สธ.เผยการศึกษาผู้ติดเชื้อ “โอมิครอน” ในแอฟริกาใต้ พบภูมิคุ้มกันสูงขึ้นจนสู้กับเดลตาได้

วันนี้ (4 มกราคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด -19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า ข้อมูลตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 3 มกราคม 2565 ประเทศไทยตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 2,062 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,105 ราย และติดเชื้อในประเทศ 957 ราย พบใน 54 จังหวัด ทั้งหมดได้รับการดูแลในระบบรักษาพยาบาลตามเกณฑ์ และไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น ภาพรวม กทม.พบเชื้อโอมิครอนมากที่สุด 585 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7 ราย, กาฬสินธุ์ 233 ราย ติดในประเทศ 231 ราย, ร้อยเอ็ด 180 ราย ติดเชื้อในประเทศทั้งหมด, ภูเก็ต 175 ราย ติดในประเทศ 17 ราย, ชลบุรี 162 ราย ติดในประเทศ 70 ราย และสมุทรปราการ 106 ราย ติดในประเทศ 28 ราย ส่วนการตรวจยืนยันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ขณะนี้ยืนยัน 379 ราย ซึ่งจากนี้ไม่จำเป็นต้องตรวจยืนยันทั้งหมด เพราะการตรวจเบื้องต้นไม่เคยผิดพลาด และวิธีป้องกันหรือดูแลรักษายังเหมือนเดิม

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้มีการศึกษาในพื้นที่แอฟริกาใต้ ในผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 14 วัน ทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วและยังไม่ฉีดวัคซีน โดยเจาะเลือดตรวจดูภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์เดลตา พบว่า ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14-15 เท่า และบางรายภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น สามารถสู้กับเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ประมาณ 4 เท่า ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมในผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยครบ 2 สัปดาห์ โดยนำเลือดมาตรวจว่าสามารถจัดการเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้มากแค่ไหน

“การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แม้จะส่งผลให้การติดเชื้อของประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลต่อจำนวนการเสียชีวิต และการติดเชื้อในประเทศไทยขณะนี้ 70-80% ยังเป็นสายพันธุ์เดลตาที่ทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ภูมิคุ้มกันสู้กับเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ และจะขึ้นสูงในกลุ่มฉีดวัคซีน ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงยังเป็นประโยชน์ และไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด การใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ยังป้องกันการติดเชื้อได้” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีมีข่าวพบสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้น ข้อเท็จจริงคือเป็นสายพันธุ์ B.1.640 ที่เคยตรวจพบก่อนสายพันธุ์โอมิครอน และไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ส่วนการตรวจพบการกลายพันธุ์ 2 สายพันธุ์ย่อย คือ B.1.640.1 และ B.1.640.2 ในฝรั่งเศส โดยต้นทางมาจากคองโก ประมาณ 400 ราย ที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง N501Y และ E484Q ที่อาจทำให้หลบจากวัคซีนได้ เป็นตำแหน่งที่พบทั้งในสายพันธุ์เบตา แกมมา และโอมิครอน จึงเป็นเพียงการรายงานเพื่อให้รับรู้ และมีการติดตามเฝ้าระวัง เหมือนกับสายพันธุ์โอมิครอนที่ตรวจพบ 3 สายพันธุ์ย่อย

ร่วมแสดงความคิดเห็น