เรียนออนไลน์ยังวุ่น! ผู้ปกครองเครียด ครูกังวลหวั่นโอมิครอนลากยาว

ผู้บริหารสถานศึกษา พื้นที่ สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ระบาดโดยเฉพาะสายพันธุ์ โอมิครอน ที่ส่งผลให้ สถานศึกษา ส่วนใหญ่ต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข ซึ่งจะเน้นการเรียน การสอน ผ่านออนไลน์ในช่วงนี้ กลายเป็นปมปัญหาที่ครูผู้สอนต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ที่เครียด และหารือถึงปัญหาการเรียนออนไลน์หลายๆด้าน

“ประการแรกจะเป็นเรื่องความไม่พร้อมของครัวเรือนที่ ต้องทำงาน และปล่อยลูกๆเรียนที่บ้าน นอกจากนั้นยังมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ต แม้จะมีงบช่วยเหลือเบื้องต้น รายละ 2 พันบาท แต่ค่าเทอม ค่าใช้จ่ายอื่นๆก็ยังไม่ปรับลดตามเสนอในการประชุมร่วมกัน ”

ด้านผู้ปกครอง หลายราย ในพื้นที่เมืองแม่โจ้ เชียงใหม่ กล่าวว่า การเรียนออนไลน์แทบไม่ได้ผล เพราะฝากผู้ใหญ่ดูแลลูกๆให้ช่วยสอดส่องการเรียน ก็จะพบว่า เด็กๆไม่สนใจ อ้างปัญหาสัญญาณไม่ดี หาข้อแก้ตัว แต่ไปง่วนอยู่กับการเล่นเกมส์กับกลุ่มเพื่อนๆ โดยผู้หลักผู้ใหญ่ ที่ดูแลลูกหลานก็ตามใจ กลายเป็นประเด็น ทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัวระหว่างพ่อแม่เด็กๆ ปู่ย่าตายายอีก

” ต้องเข้าใจธรรมชาติ ผู้สูงวัย กับเด็กๆ ไม่เหมือน อยู่ในโรงเรียน หรือ มีพ่อแม่ คอยดูแลใกล้ชิด คอยแนะนำการทำการบ้านการเรียน หากโอมิครอนลากยาวออกไป และลูกๆ ต้องเรียนออนไลน์ คงส่งผลต่อการศึกษา ที่อาจต้องไปเรียนพิเศษ เพิ่มเติม เป็นรายวิชา กับครูเฉพาะสาขา ซึ่งผู้ปกครองที่มีความพร้อมจะนิยมใช้รูปแบบนี้กับลูกๆ ในการเรียนเพิ่มเติมช่วงวันหยุด แต่ครอบครัวที่ไม่พร้อมก็ต้องปล่อยตามสภาพไป”

นอกจากนั้น ผู้ปกครอง บางราย กล่าวว่า ช่วง ต้นปี จะมีการสอบ การคัดเลือก เข้าเรียน ในระดับชั้นต่างๆ แม้ว่า เขตการศึกษาและโรงเรียนจะแจ้งให้ทราบแนวทางการรับนักเรียน ประจำปี 2565 นี้ อาทิ ประถมศึกษษปีที่ 1 ไม่มีการสอบวัดความสามารถทางวิชาการ แต่ก็จะทราบดีว่า สถานศึกษาดังๆ มีคุณภาพ มีชื่อเสียง อัตราการรับ การคัดเลือกเป็นอย่างไร เกือบจะทุกระดับชั้น ซึ่งประกาศของสำนักการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) ก็เป็นเพียงหลักการ ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้ปกครองจะทราบดี

” แม้กระทั่งนโยบายช่วยเหลือผู้ปกครองลดค่าใช้จ่ายทางอินเตอร์เน็ต กลุ่ม ที่ใช้เน็ตแบบเติมเงิน จะไม่สามารถทำได้และที่ใช้เน็ตบ้าน ไม่ได้เก็บใบแจ้งค่าบริการ ไม่ทราบ หมายเลขแจ้งใบแจ้งค่าบริการ ไม่สามารถทำได้ รวมถึงครูผู้สอน ควรได้รับการช่วยเหลือด้วย ค่าอินเตอร์เน็ตด้วย เนื่องจากส่วนหนึ่ง ผู้ปกครอง สอบถาม หารือปัญหาการเรียน การสอนของลูกหลานกับครูผู้สอนนอกเวลาราชการก็มี ”

ทั้งนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเปิดเผยว่า สถานการณ์ช่วงโควิด 19 กว่า 2 ปี ยิ่งมีโฮมิครอนเข้ามาอีก อาจจะทำให้ต้องเรียน ต้องสอนออนไลน์กันต่อไป แม้จะมองว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ตามยุคสมัย ไร้ข้อจำกัด แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงและปรับตัวกับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ได้

” โดยเฉพาะเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล และนักเรียนในครอบครัวรายได้น้อย ที่มีอุปสรรคเข้าถึงการศึกษาอยู่แล้ว วิกฤตขณะนี้จะยิ่งทำให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าวเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา รูปแบบเรียนการสอนมาเป็นระบบออนไลน์ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อนักเรียนแต่กระทบเป็นวงกว้างต่อทั้งระบบการศึกษาอย่าลืมว่า ครูผู้สอน มีหลากรูปแบบทั้งข้าราชการ, พนักงานราชการ,อัตราจ้าง, ช่วยสอน รายได้แตกต่างกัน กลุ่มที่ เงินเดือนน้อยอาจประสบปัญหาขาดอุปกรณ์เพื่อจัดการสอน ยิ่งถ้าไม่มีงบสนับสนุน ยิ่งลำบาก การสอนก็ต้องค้นหารูปแบบการสอนหรือเทคนิคที่จะดึงดูด จูงใจเด็กๆให้สนใจ จนเห็นลีลาครูผู้สอน ที่ปรากฎตามสื่อสังคม ธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กจำเป็นต้องพบปะเพื่อนฝูง ต้องมีสังคม การเรียนแบบปกติยังเป็นรูปแบบที่จำเป็น เหมาะสมอยู่ ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น