วว.และเครือข่าย มทร. 9 สถาบัน Kickoff จัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระบบขนส่งทางราง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบัน วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมประชุมเริ่มงาน (Kickoff Meeting) กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 สถาบัน ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเตรียมร่วมกันจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพระบบขนส่งทางราง (Non-degree programs) ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้บันทึกความเข้าใจการพัฒนากำลังคน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ระบุพร้อมเปิดการเรียน การสอน/การอบรมในปี 2565 สามารถเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ เพื่อสะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิตได้


เมื่อเร็วๆ นี้ วว. โดย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) นำโดย ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง นายภณสินธุ์ ไพทีกุล ผู้อำนวยการ ห้องปฏิบัติการทดสอบและพัฒนาเทคโน โลยีขนส่งทางรางและยานยนต์ขนส่ง และทีมนักวิชาการ ศทร. ประชุมออน ไลน์ เพื่อการจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระบบขนส่งทางราง (Non-degree programs) กับผู้แทนเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยา ลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโน โลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยา ลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ภายใต้บันทึกความเข้าใจการพัฒนากำลังคน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ


ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง วว. กล่าวว่า วว. ได้นำเสนอร่างหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพระบบขนส่งทางราง (Non degree programs) ที่ วว. มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนร่วมกับมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย วิชาเลือกทางวิศวกรรมเทคโนโลยีระบบราง จำนวน 2 วิชา ได้แก่ Product Design and Development (PDD) และ Modern Railway Maintenance (MRM) ให้แก่นักศึกษาปริญญาตรี (และต่อเนื่อง) และปริญญาโท รวมทั้งการอบรมคอร์สขั้นสูงเฉพาะทางในสาขา หรือเทคโนโลยีทางระบบรางใหม่ๆ ที่ วว. มีความร่วมมือในการถ่ายทอดร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ ให้แก่บุคลากรมหาวิทยาลัย วิศวกรและนักวิจัย โดยผู้ที่ผ่านโปรแกรมดังกล่าว จะสามารถปฏิบัติงานและต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาตนเองและองค์กรได้ต่อไป


“…การพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านระบบขนส่งทางราง ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมแรกของการลงนามความร่วมมือ ด้านการพัฒนาหลักสูตร Non-degree เพื่อพัฒนากำลังคนเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ระหว่าง วว. กับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 สถาบัน ซึ่งมีแผนเปิดการเรียนการสอนและการอบรมในปี 2565 โดยเป็นการเรียนและฝึกอบรมที่ไม่ได้รับปริญญา (Non-degree) สามารถเทียบโอนความรู้และประสบการณ์เพื่อสะสมหน่วยกิตในธนาคารหน่วยกิต (Credit bank) และให้กำลังคนสามารถได้ประกาศนียบัตรหรือคุณวุฒิที่สูงขึ้น ตามความต้องการของประเทศ โดยศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการทางระบบรางและยานยนต์ ที่สามารถใช้สนับสนุนหลักสูตร Non-degree เพื่อให้นักศึกษา ผู้บรรยายและบุคลากรมหาวิทยาลัย ได้เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาตนเอง และองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ…” ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง วว. กล่าว

ทั้งนี้ วว. ได้ลงนามความร่วมมือด้านการพัฒนาหลักสูตร Non-degree เพื่อพัฒนากำลังคนเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 สถาบันดังกล่าว โดยมีขอบเขตของความร่วมมือด้านการให้คำปรึกษา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ การส่งเสริมและสนับสนุนเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ บุคลากร สถานที่ และการฝึกอบรมทางวิชาชีพ การร่วมดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ การวิจัยและบริการวิชาการ การพัฒนาหลักสูตร Non-degree เพื่อพัฒนากำลังคนเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และการพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานอาชีพ ร่วมกับสถานประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรม

ร่วมแสดงความคิดเห็น