มร.ชม. ร่วมกับ ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ 31 จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ

เมื่อวันที่ 8-9  มกราคม 2565   สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นำโดย อาจารย์สิริพร คืนมาเมือง รองผู้อำนวยการ ร่วมกับ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 นำโดย อาจารย์วิเศษ ฟองตา รองผู้อำนวยการ  ได้ดำเนินโครงการองค์ความรู้จากลานหมากและพันธุ์ไม้พื้นเมือง หายากในล้านนา : การอนุรักษ์สืบสานและต่อยอด ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

โดยมีการดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ องค์ความรู้จากต้นลานต้นหมาก การติดตามประเมินผล การนำเสนอผลงานหัตถกรรมจากต้นลานต้นหมากของผู้เข้าร่วมโครงการ และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของผู้เข้าร่วมโครงการ มีการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ  ซึ่งมีนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรมเป็นจำนวนมาก ทั้งสิ้น 7 หลักสูตร ได้แก่  หลักสูตร เทคนิคการตลาดเพื่อส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากใบลาน : วิทยากรโดย นางสาวประไพ สุขดำรงวนา, หลักสูตรเทคนิคการคิดสร้างสรรค์สู่การพัฒนางานหัตถกรรมจากใบลานให้ร่วมสมัย : วิทยากรโดย นายชลาพันธ์ ดวงปากดี, หลักสูตรเทคนิคการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าผ่านการเล่าเรื่องราวในการออกแบบผลิตภัณฑ์ : วิทยากรโดย นางสาวพรธีรา งามจารุศศิธร ,

หลักสูตรเทคนิคการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากใบลาน : วิทยากรโดย อาจารย์สมศักดิ์ พรมจักร, หลักสูตรเทคนิคด้านหลักการทางศิลปะ สู่การพัฒนางานหัตถกรรมจากใบลาน : วิทยากรโดย นายนิทัศน์ อินถานันท์,  หลักสูตรเทคนิคการถ่ายภาพด้วยกล้องมือถือเพื่อการนำเสนอผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากใบลาน : วิทยากรโดย นายภูบดินทร์ ธรรมศิลป์ และหลักสูตรเทคนิคการใช้ระบบออนไลน์ เพื่อการนำเสนอผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากใบลาน : วิทยากรโดย นางสาวพิกุล กู้เกียรติกุญชร

ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณพัทธนันท์ พิทาคำ ปลัดอาวุโส อำเภอแม่แจ่ม เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดแสดงนิทรรศการ ผลงานหัตถกรรมจากต้นลานต้นหมาก  ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานของนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดองค์ความรู้หัตถกรรมล้านนา จากต้นลาน ต้นหมากมาประยุกต์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ในเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มมูลค่า อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนได้ร่วมอนุรักษ์สืบสาน ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้คงอยู่สืบไป

ภาพ – ข้อมูล: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เรียบเรียงข่าว: นางสาวพัชริดา เชียวขุนเนิน นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น