สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต สำรวจแหล่งอาศัยเต่าปูลู หลังมีแนวโน้มจะสูญพันธุ์

วันที่ 15 มกราคม 2565 ทีมงานพื้นที่สนามสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต นำโดย นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของเต่าปูลูที่ลำห้วยห้อม และลำห้วยซ้อ ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ร่วมกับผู้รู้ในชุมชน สำรวจระบบนิเวศน์แหล่งที่อยู่อาศัยของเต่าปูลู ภายใต้โครงการวิจัยเรื่องการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มน้ำอิงตอนปลาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ความรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของเต่าปูลูที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สถานการณ์ ภัยคุกคามของเต่าปูลู และนำเสนอแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มน้ำอิง

เต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว Siamese Big-headed Turtle ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Platysternon megacephalum peguense Gray,1870 ในทางกฎหมายจัดให้เต่าปูลูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ในปีพ.ศ.2546 IUCN (2011)จัดสถานภาพการอนุรักษ์เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์(En-Endangered) การคุ้มครองตามอนุสัญญาCITES จัดอยู่ในบัญชี 2 (Appendix ll) เต่าปูลูมีการสำรวจพบในแม่น้ำสาขาในลุ่มน้ำอิง ชุมชนมักพบเต่าปูลูบริเวณป่าต้นน้ำที่มีน้ำตก มีหินผา เช่นบริเวณน้ำตกแดนดง บริเวณตาดหมอก ชาวบ้านงามเมือง ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เคยเต่าปูลูได้บริเวณน้ำตก ลำห้วยแดนเมือง แต่ด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ภาวะภัยแล้ง และภัยคุกคามจากมนุษย์ทำให้จำนวนเต่าปูลูลดลง และมีแนวโน้มจะสูญพันธุ์


นายสมบูรณ์ อินพา ชาวบ้านในชุมชน กล่าวว่า เต่าปูลูแต่ก่อนมีมากกว่านี้ เดือนที่ผ่านมาที่ห้วยห้อมพ่อก็จับได้ 2 ตัว บ้านเราไม่กิน ได้มาก็จะปล่อย มันตัวเล็ก ใหญ่สุดไม่เกินฝ่ามือ มันชอบอยู่ห้วยเล็กๆ ห้วยสาขาต้นน้ำ ที่มีน้ำไหล มีหินผา บ้านเรามีการพบปูลูกเกือบทุกลำห้วย

การสำรวจในครั้งนี้ยังไม่พบเต่าปูลู ซึ่งภัยคุกคาม ที่พบสองสาเหตุหลักๆ คือการขยายพื้นที่การเกษตรไปยังป่าต้นน้ำ และการล่าของคนนอกพื้นที่ทำให้จำนวนเต่าปูลูลดลง จากการสำรวจเต่าปูลู ทั้งสองลำห้วยชาวบ้านยืนยันว่ายังมีเต่าปูลูอาศัยอยู่ และได้นัดหมายในการสำรวจเต่าปูลูในครั้งต่อไป โดยการส่องไฟหาตอนกลางคืน เพราะเต่าปูลูออกหากินตอนกลางคืนจะพบตัวได้ง่ายกว่า ส่วนกลางวันจะหลบซ่อนตัวตามใต้ใบไม้ ซอกหลืบหินผา ทำให้ไม่สามารถพบตัวได้ ส่วนแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู ทางผู้นำชุมชนจะนำเข้าที่ประชุมหมู่บ้าน ในเรื่องของการห้ามจับเต่าปูลู โดยเฉพาะคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาหาล่าเต่าปูลู และทุกปีทางชุมชนมีการทำแนวกัน ทำฝายชะลอน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในการรักษาพื้นที่อยู่อาศัยของเต่าปูลู รวมถึงการจัดทำเขตป่าชุมชน

ร่วมแสดงความคิดเห็น