(มีคลิป) หน่วยงานอุทยานแห่งชาติ ลาดตระเวนรักษาพรรณไม้และสัตว์ป่า พบมีการลักลอบนำเข้าโค และ กระบือ จากพม่า

หน่วยงานอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จัดกำลังออกลาดตระเวนรักษาพรรณไม้และสัตว์ป่า ในป่าเขตรับผิดชอบติดแนวชายแดนพม่าด้าน อ.ปางมะผ้า ตรวจพบมีการลักลอบนำเข้าโค และ กระบือ จากพม่าอย่างโจ่งครึ่ม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังนิ่งเฉย ล่าสุดมีการพยายามวิ่งเต้นนำวัวพม่าส่งไปยังเชียงใหม่ โดยไม่สนใจคำสั่งของกรมปศุสัตว์ที่ห้ามนำเข้าสัตว์จากพม่าแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 แหล่งข่าวในอุทยานแห่งชาติ ถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หน่วยอุทยาน ฯ ได้จัดกำลังออกลาดตระเวน เพื่อรักษาพรรณไม้และสัตว์ป่า (สมาร์ทพาโทรล) บริเวณแนวชายแดน พื้นที่บ้านดอยคู ปุงยาม ห้วยส้านใน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ขณะออกลาดตระเวนได้ตรวจพบมีการลักลอบนำโคและกระบือจากบ้านหัวเมืองในเขตสหภาพเมียนมา เข้ามาในไทย ผ่านช่องทาง บ้านดอยคู , ช่องทางบ้านปุงยาม และ บ้านห้วยส้านใน เขตพื้นที่ ต.นาปู่ป้อม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เป็นจำนวนมาก โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบหรือจับกุมการนำเข้าโคและกระบือที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ล่าสุดพบว่า ได้มีการต้อนโคและกระบือ มาพักไว้ที่ บ้านทุ่งสี่สิบ และ บ้านไม้ซางหนาม ต.นาปู่ป้อม ฯ ขณะที่ราษฎรบ้านห้วยส้านใน แจ้งว่า พบโคและกระบือในหมู่บ้านเริ่มป่วยเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นจำนวนมากเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงโคและกระบือในไทยแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มนักธุรกิจค้าโคและกระบือ ได้มีการประชุมลับในพื้นที่แห่งหนึ่ง ของ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เรื่องการเตรียมส่งออกโคและกระบือ จากพื้นที่ ต.นาปู่ป้อม อ.ปางมะผ้า ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการใช้เส้นระดับสูงในกระทรวงหนึ่งที่กรุงเทพมหานคร ว่าจะไม่ยอมเสียภาษีให้กับทางศุลกากร โดยอ้างว่าได้เคลียร์กับนายในกรมที่เกี่ยวกับสัตว์แล้ว ซึ่งจะมีการลำเลียงโคและกระบือ จำนวน 2,000 กว่าตัว ที่นำเข้าจากพม่าและมาพักไว้ที่ บ้านป่าโหล , บ้านซอแบะ , บ้านปางคอง และ บ้านปุงยาม ต.นาปู่ป้อม อ.ปางมะผ้า โดยใช้เส้นทาง สายแม่ฮ่องสอน – ปาย – เชียงใหม่ และ เส้นทางสาย แม่ฮ่องสอน – ขุนยวม – อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นอกจากโคและกระบือที่ลอบนำเข้ามาในไทยจำนวนกว่า 2,000 ตัวแล้ว ยังมีโคและกระบือ อีกจำนวน 200 ตัว ซึ่งอยู่ที่บ้านหนองแดง ตรงข้ามฐานที่มั่นทหารไทย ฐานดอยหลักแต่ง ที่เตรียมลำเลียงเข้ามาสมทบในเร็ว ๆ นี้

แหล่งข่าวพ่อค้าโคและกระบือชาวไทย รายหนึ่งระบุว่า การนำเข้าโคและกระบือ ตามหลักการในช่วงนี้จะไม่สามารถนำเข้าได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากมีราชกิจจาของ กรมปศุสัตว์ในการห้ามนำเข้าสัตว์จากประเทศเมียนมา เนื่องจากเกรงจะมีการนำเชื้อโรคลัมปีสกินจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาระบาดในไทย แต่ก็พบว่า ได้มีกลุ่มพ่อค้าอีกหลายกลุ่ม ที่มีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการได้ โดยต้องจ่ายค่าเคลียร์ต่อตัว ตัวละ 2,400 บาท ขณะที่ต้นทุนโคและกระบือในพม่า ตกตัวละ 23,000 – 25,000 บาท โคและกระบือจำนวน 2,000 ตัว คิดเป็นเงิน 50,000,000 บาท ค่าเคลียร์ตัวละ 2,400 บาท คิดเป็นเงิน 4,800,000 บาท ทำให้มีคนกล้ากระทำผิด โดยไม่หวั่นว่า จะมีการนำเชื้อโรคจากนอกประเทศมาปล่อยในไทยซึ่งหากเกิดการระบาดในไทยขึ้นมา จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในวงกว้างและคิดประเมินความเสียหายนับไม่ถ้วน

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานการประชุมการพิจารณาการตรวจประเมินคอกกักสัตว์ และระบบเพื่อการนำเข้าราชอาณาจักร ซึ่งโค กระบือ จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ผ่านจุดผ่อนปรนทั้ง 5 จุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ห้องประชุมประดิษฐ์จองคำ ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีนายพนม มีศิริพันธุ์ ปศุสัตว์เขต 5 พร้อมด้วย นายอนิรุธ เนื่องเม็ก ปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายโรจน์ชนะ ปรากฏชื่อ ผู้แทนจากสำนักควบคุมและบำบัดโรคสัตว์ นางสาวพจนา สากระแสร์ ผู้แทนจากกองความร่วมมือด้านปศุสัตว์ระหว่างประเทศ และผู้แทนจากกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ เข้าร่วมประชุม พร้อมกับคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน

การประชุมฯ ดังกล่าว เป็นการหาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการค้าสัตว์เพื่อการนำเข้าตามแนวชายแดน และกระตุ้นการค้าการลงทุน รวมทั้งเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเตรียมความพร้อมรองรับการอนุญาตให้นำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งโค กระบือจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ผ่านจุดผ่อนปรนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ร่วมแสดงความคิดเห็น