พิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง หอการค้า 17 จังหวัดภาคเหนือ กับ 14 มหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์

วันที่ 18 มกราคม 2565 อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง หอการค้า 17 จังหวัดภาคเหนือ กับ 14 มหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย ศ.ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) นำประธานกรรมการหอการค้า 17 จังหวัด และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ร่วมพิธี NSP Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) เพื่อเตรียมสร้างโครงการความร่วมมือต่างๆ โดยเชื่อมโยงงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านการบ่มเพาะผู้ประกอบการในภาคเหนือ


นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไปสู่ยุค 4.0 โดยมุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งหอการค้าไทยได้มีนโยบายและวิสัยทัศน์ในการมุ่งใช้ความรู้ เครือข่ายและความร่วมมือมาช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตยั่งยืน จึงทำให้ผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนการผลิตต้องปรับตัว เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตท่ามกลางบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดจนสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยนำการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้อย่างสร้างสรรค์


นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย และหอการค้า 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้เล็งเห็นบทบาทและความสำคัญของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยเชื่อมโยงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายในภาคการศึกษาด้วยการนำองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจอย่างแท้จริง จึงจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหอการค้า 17 จังหวัด อันได้แก่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร และพิษณุโลก กับมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มรภ.อุตรดิตถ์ มรภ.พิบูลสงคราม มรภ.เชียงใหม่ มรภ.เชียงราย มรภ.ลำปาง มรภ.กำแพงเพชร มรภ.นครสวรรค์ มรภ.เพชรบูรณ์ มทร.ล้านนา


ด้าน ศ.ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในฐานะมหาวิทยาลัย แม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับหอการค้าไทย และพร้อมรวมพลังกับอีก 13 มหาวิทยาลัยเครือข่ายในการช่วยพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจากทรัพยากรที่มีอยู่ อนึ่ง ความร่วมมือดังกล่าวยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะ 4 ปี ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นบูรณาการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่ รวมถึงสนับสนุนศักยภาพของ SMEs สู่การพัฒนายกระดับประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 ต่อไป


สำหรับกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในฐานะหน่วยงานแม่ข่ายขับเคลื่อนว่าโครงการสร้างเครือข่ายทางการค้าและจับคู่เจรจาธุรกิจสู่ตลาดสากล จะเป็นโครงการที่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกนี้ โดยความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหารและเกษตรแปรรูปให้มีศักยภาพสูง พร้อมมุ่งสู่ตลาดต่างประเทศ (International Market)

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับจังหวัดลำปางและหอการค้าจังหวัดลำปางในการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City Lampang) รวมถึงโครงการนิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคเหนือ ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC) ซึ่งร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ในการผลักดันให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางดิจิทัล (Digital Hub) เกิดอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และอุตสาหกรรมการบริการสุขภาพและเครื่องสำอาง เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น