“ผวจ.แพร่ เข้ากราบสักการะพระธาตุไฮสร้อย บ้านไฮสร้อย ต.ปากกาง อ.ลอง จ.แพร่”

เมื่อบ่ายวันที่ 23 มกราคม 2565 เวลา ๑๓.๐๐ น. นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เข้ากราบสักการะพระธาตุไฮสร้อย ณ วัดพระธาตุไฮสร้อย บ้านไฮสร้อย หมู่ที่ ๕ ตำบลปากกาง อ.ลอง จังหวัดแพร่

พระธาตุไฮสร้อยเป็นใจเมือง(สะดือเมือง)หรือศูนย์กลางเมืองลอง ซ้อนทับอยู่กับไม้ใจเมือง(ต้นไทรย้อย) ที่เป็นศูนย์กลางตามความเชื่อผีดั้งเดิมอยู่ภายในวัด ซึ่งไทรย้อยต้นนี้ด้วยการเป็นไม้ใจเมืองจึงมีการให้ความสำคัญตลอดมา เช่นนำมาตั้งเป็นชื่อวัดว่า “วัดไฮสร้อย” (ไฮ – ต้นไทร, สร้อย – รากไทรที่ย้อยลงมา) หรือจากในจารึกท้ายคัมภีร์ใบลาน(คำส่อ)ของวัดพระธาตุไฮสร้อย พบว่ามักเรียกชื่อวัดหลากหลายตามสภาพแวดล้อมที่ตั้งกับต้นไทรเช่น”วัดพระธาตุไฮสร้อยกิ่งย้อยดอนแท่น” “วัดพระธาตุไฮสร้อยดอนแท่นริมยม” หรือ “วัดพระธาตุไฮสร้อยดอนแท่นวังต๊ะครัว” และมีพุทธทำนาย(บางตำนานว่าพระเจ้าอโศกทรงทำนาย)ของวัดพระธาตุไฮสร้อยก็เชื่อมโยงกับต้นไทรว่า “เมื่อใดต้นไทรย้อย นี้รากย้อยถึงพื้นดิน เมื่อนั้นวัดพระธาตุแห่งนี้จะมีผู้อุปถัมภ์ให้เจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง”เวียงลองนอกจากมีวัดพระธาตุไฮสร้อยเป็นวัดกลางเวียง หรือวัดกลางเมืองก็ยังปรากฎมีวัดบริวารอยู่สี่มุมเมืองคือวัดหัวเวียง(วัดหัวข่วง)ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ วัดพระธาตุแหลมลี่ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ วัดม่อนโบสถ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ วัดโกนหลวง ส่วนหางเวียงลองเป็นที่ตั้งชุมชน และภายนอกเวียงทิศใต้เป็นป่าช้า และแดนประหาร เจ้าเมืองลองเท่าที่ปรากฎนามตามตำนานในยุคแรกนี้ เช่น (๑) พญาศรีกุกกุฎฎะ (โอรสเจ้าเมืองเขลางค์นคร ) (๒) เจ้าพญาสถัมพหุลี (เจ้าสถัมพา ) (๓) พญาพรหมกุลี (๔) พญาพูลลิกะ (เจ้าผะหลิก,เจ้าผุหลิก) (๕) พญามธุรัสสะ (เจ้ามธุรส,บุตร ๔ ) (๖) พญาสุรมาลัยยะ (เจ้าสุรมาลัย,บุตร๕ )(๗) พญาเชิญเมือง (๘) พญาสิบสองเมือง (เจ้าสิบสองหัวเมือง,บุตร ๗ ) (๙) พญาเป็กขะจา (เจ้าจอมฝาง หรือ พญาหูหิ้น,บุตร ๘ ) (๑๐) พญาหัวเมืองแก้ว (พญาเมืองแก้ว)


วัดพระธาตุไฮสร้อยตามตำนานมีการระบุสร้าง โดยพญาสุรมาลัยยะ (เจ้าสุรมาลัย) เจ้าเมืองลองหรือที่ตำนานเรียกว่า “เมืองศิริกุกกุฎฎะไก่เอิ้ก” หรือ “เมืองเววาทะภาษิต” มีการสร้างพระธาตุไฮสร้อยไว้เป็นพระมหาธาตุกลางเวียง ซึ่งภายในตำนานระบุว่า บรรจุพระธาตุส่วนมันสมองของพระพุทธเจ้า และในตำนานพระธาตุแหลมลี่ยังสร้างความสำคัญให้กับพระธาตุองค์ต่างๆในเมืองลอง โดยการจัดระบบพระธาตุให้เป็นคติบูชาพระธาตุประจำพระเจ้าห้าพระองค์ คล้ายกับอาณาจักรล้านนาที่มีการจัดระบบพระธาตุให้เป็น คติบูชาพระธาตุประจำปีเกิด ซึ่งตำนานพระธาตุแหลมลี่ระบุว่าพระธาตุไฮสร้อยเป็นพระธาตุประจำพระเจ้ากกุสันธะ (องค์ที่ ๑) และพระเจ้าโกนาคมนะ (องค์ที่ ๒) พระธาตุขวยปูประจำพระเจ้ากัสปะ (องค์ที่ ๓)พระธาตุแหลมลี่ประจำพระเจ้าโคตรมะ (องค์ที่ ๔) และพระธาตุปูตั๊ปประจำพระศรีอริยเมตตรัย (องค์ที่ ๕)เป็นการจัดพระธาตุให้เป็นระบบตามคติพระเจ้าห้าพระองค์ที่จะเสด็จตรัสรู้ในภัทรกัปนี้ ดังตำนานวัดพระธาตุแหลมลี่กล่าวว่า”…แห่งดอยปูตั๊ปหั้นเมื่อพระเมตเตยย์เจ้าจักมาภายหน้ามหาธาตุเจ้ารุ่งเรืองมากนักมี หั้นชะแลแห่งขวยปูแช่ฟ้านั้น เมื่อพระเจ้ากัสสปะนั้นเป็นมหาธาตุเจดีย์รุ่งเรืองที่ ๑ แล้ววันนั้นแล แห่งวัดไฮสร้อยกิ่งย้อยนั้น เป็นมหาธาตุแห่งพระเจ้ากกุสันธะ และพระโกนาคมนะ แล้ววันนั้นแล ในเมืองลองอันเป็นพุทธภูมิวิเสสแล วิตฺถารมฺมวนฺทานา วตฺถุฬาน เป็นที่พระสัพพัญญูเจ้ามารอดจอดอยู่ปูชาสการคารวะ เข้าใน ๘ หมื่น ๔ พันหลัง เท่ามี ๔ หลังนี้แล.” วัดพระธาตุไฮสร้อยในฐานะวัดหลวงกลางเวียงลอง จึงมีการก่อกำแพงแก้วแบ่งระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสอย่างชัดเจน ภายในกำแพงแก้วเขตพุทธาวาสมีพระธาตุไฮสร้อยเป็นศูนย์กลาง มีพระวิหารหันหน้าติดกับฝั่งแม่น้ำยมด้านทิศตะวันออก และมีพระอุโบสถอยู่ด้านทิศเหนือ ด้วยวัดพระธาตุไฮสร้อยเป็นวัดหลวงกลางเวียงลองและพระธาตุไฮสร้อยเป็นพระมหาธาตุกลางเวียงลอง จึงได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้าเมืองลองและชาวเมืองลองตลอดมา จนกระทั่งภายหลังสงครามครั้งใหญ่ระหว่างราชอาณาจักรอยุธยากับราชอาณาจักรล้านนา ใน พ.ศ. ๒๐๒๐ พญาหัวเมืองแก้ว ชาวเมืองเชียงใหม่ เสนาบดีของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาราชวงศ์์มังรายพระองค์ที่ ๙ (พ.ศ. ๑๙๘๔ – ๒๐๓๐) ได้ถูส่งมาเป็นเจ้าเมืองลองแทนพญาเป็กขะจา อดีตเจ้าเมืองลองที่ได้ถึงอนิจกรรม จึงได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาตั้งมั่นชั่วคราวที่บ้านก่อนดอนหัวนา (บริเวณโรงเรียนบ้านห้วยอ้อปัจจุบัน) สันนิษฐานว่าเนื่องจากเวียงลองเก่าได้รับความเสียหายจากสงครามระหว่างล้านนากับอยุธยาที่ยาวนานร่วม ๒๐ กว่าปี และห้วยแม่ลองเปลี่ยนเส้นทางเดินตัดผ่านขึ้นมาทางเหนือประมาณ ๑ กิโลเมตร ปัจจุบันยังปรากฎเส้นทางเดินน้ำเก่านี้เรียกว่า”ห้วยแม่ลองด้วน”การเปลี่ยนเส้นทางของห้วยแม่ลองส่งผลให้ในฤดูฝนเกิดน้ำท่วม ล้อมรอบเป็นเกาะขังผู้คนไว้ในเวียง ไม่สามารถเข้าออกเวียงได้เลยนอกจากใช้เรือ และน้ำยังท่วมถึงบริเวณที่ราบนอกเวียงอันเป็นที่นาปลูกข้าวและที่ตั้งหมู่บ้านต่างๆ ชาวเมืองกลุ่มใหญ่จึงอพยพขึ้นเหนือตามพญาหัวเมืองแก้ว บางกลุ่มอพยพไปทิศใต้บริเวณ ตำบลทุ่งแล้งในปัจจุบัน เพราะเป็นที่ดอนและใกล้พระธาตุแหลมลี่ พระธาตุขวยปู และพระธาตุปูตั๊ป ส่วนกลุ่มข้าวัดพระธาตุแหลมลี่ บ้านปากห้วยแม่ควาย (บ้านแหลมลี่) กลุ่มข้าผีเมือง (ตระกูลผีปู่ย่าพ่อเฒ่าหลวง) ตีนจองรองบ่อ (ผู้ดูแลรักษาบ่อเหล็กลอง) บ้านนาตุ้ม และหมู่บ้านเป็นที่ดอนอยู่แล้ว เช่น บ้านปากกาง บ้านร่องบอน ยังตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิม พญาหัวเมืองแก้วได้ตั้งมั่นชั่วคราวที่บ้านก่อนดอนหัวนาอยู่ร่วม ๑๐ ปี เพื่อหาที่เหมาะสมเตรียมพร้อมกำลังไพร่พล และเก้บเกี่ยวเสบียงอาหาร ซึ่งในระหว่างนี้ได้พบชัยภูมิที่เหมาะสมสำหรับตั้งเวียงคือบริเวณเวียงเหล่าเวียง (บริเวณบ้านนาหลวงในปัจจุบัน) ที่เคยเป็นเวียงบริวารของเวียงลอง จึงบูรณะขึ้นใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองลองยุคที่ ๒ (พ.ศ.๒๐๓๐ – ๒๓๑๘) ซึ่งภายหลังใน พ.ศ.๒๓๑๘ พญาชื่นมสบัติ (ต้นตระกูล”ชื่นสมบัติ) เจ้าเมืองลองจึงค่อยย้ายมาตั้งศูนย์กลางเมืองลองจากเหล่าเวียงมาอยู่ที่บ้านฮ่องอ้อ (ห้วยอ้อ) ในปัจจุบันจึงส่งผลให้ภายในเวียงลองเก่ารุ่นแรกมีคนอาศัยอยู่เบาบางและค่อยร้างไปเหลือแต่ผู้คนที่ตั้งหมู่บ้านอยู่รอบๆเวียง เช่น บ้านนาตุ้ม (ใต้้) บ้านปากกาง บ้านร่องบอน และบ้านปากห้วยแม่ควาย (บ้านแหลมลี่) เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีงานประเพณี (ไหว้) ขึ้นพระธาตุไฮสร้อยในเดือน ๔ เป็ง (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๔ เหนือ ก็จะเป็นกำลังหลักทำการแผ้วถางทำความสะอาดครั้งหนึ่ง


จนกระทั่ง พ.ศ.๒๓๔๕ เมื่อล้านนามีการฟื้นฟูบ้านเมืองในยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง พระเจ้ากาวิละ พระเจ้านครเชียงใหม่ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน พระองค์ที่ ๑ (พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๘) และเจ้านายเมืองนครลำปางได้นำกำลังขึ้นไปตีเมืองนครเชียงตุง ได้เจ้านายเมืองนครเชียงตุง ขุนนางครูบามหาเถระ ช่างฝีมือและชาวเมืองนครเชียงตุง (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า) ให้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำพูน และเมืองนครลำปาง ซึ่งขณะนั้นเมืองลองเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครลำปาง (อำเภอลองโอนไปขึ้นกับจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๔ และ พ.ศ.๒๕๐๑ แยกออกไปตั้งอำเภอวังชิ้น) จึงมีชาวนครเชียงตุงบางส่วนเข้ามาตั้งถิ่นฐานด้วย กลุ่มที่เข้ามาเมือลอง นำโดย ครูบาจองสูง หรือ ครูบาจอสุง จนฺทวโร พร้อมช่างฝีมือและชาวเมืองนครเชียงตุง โดยกลุ่ม ครูบาจองสูงตั้งถิ่นฐานที่บ้านไฮสร้อย และทำการฝฟื้นฟูวัดพระธาตุไฮสร้อยที่เคยร้างไปดังปรากฎในปัจจุบัน และอีกกลุ่มตั้งถิ่นฐานฟื้นฟูวัดบ้านกาง (บริเวณบ้านร่องบอน) ซึ่งการเข้ามาฟื้นฟูวัดพระธาตุไฮสร้อยของครูบาจองสูง ภายหลังท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุไฮสร้อยสิ่งก่อสร้างในสมัยนี้ที่ส่วนใหญ่จึงมีรูปแบบศิลปะเป็นแบบไทเขิน-ไทใหญ่ที่คงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน คือ พระเจ้าสามพี่น้อง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ๓ องค์ สร้างเมื่อประมาณช่วง พ.ศ. ๒๓๔๕ มีรูปแบบทางศิลปะเป็นแบบไทเขิน-ไทใหญ่ แต่เนื่องด้วยมีการบูรณะหลายสมัยจึงปรากฎมีศิลปะแบบไทยยวน (ล้านนา) ผสมอยู่ในปัจุบัน สล่า(ช่าง) ที่ทำการปั้นพระพุทธรูปมี ๓ คนเป็นชาวไทเขิน-ไทใหญ่ที่ติดตามครูบาจองสูง (จอสุง)คือ สล่ากุ่มหม่า,สล่าตุ๊ และสล่าจอง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ตรงกลางสูงประมาณ ๓ ศอก(๑.๕ เมตร)หน้าตักประมาณ ๒ ศอก (๑ เมตร)และองค์เล็ก ๒ องค์ ด้านซ้ายขวา สูงประมาณ ๒ ศอก (๑ เมตร) หน้าตักประมาณ ๑ ศอก ๑ คืบ (๗๕ เซนติเมตร) ในพ.ศ.๒๔๖๔ มีการสร้างกุฎิสงฆ์ครอบองค์พระทั้ง ๓ องค์ไว้ พระเจ้าสามพี่น้องจึงเป็นพระประธานอยู่ภายในกุฎิสงฆ์ จนกระทั่งพ.ศ.๒๕๕๒ ได้รื้อกุฎิสงฆ์หลังเก่าและย้ายไปสร้างกุฎิสงฆ์ในที่ใหม่ จึงมีการก่อสร้างเป็นมณฑปพระพุทธรูปสามพี่น้องซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน ภายในวัดพระธาตุไฮสร้อยนอกจากพระเจ้าสามพี่น้อง ก็ยังมีโบราณวัตถุและโบราณสถานที่เก่าแก่คู่มากับวัดอีกหลายอย่าง เช่น (๑) พระธาตุไฮสร้อย


พระธาตุไฮสร้อย สร้างคู่มากับวัดพระธาตุไฮสร้อยมีอายุไม่ต่ำกว่า ๗๐๐ ปี ถือว่าเป็นพระมหาธาตุกลางเวียงลอง หรือพระธาตุใจกลางเมืองลองยุคแรก เหมือนกับพระธาตุศรีดอนคำที่เป็นพระธาตุกลางเมืองลองยุคที่ ๓ หรือหากปรากฎในเมืองอื่นๆ เช่นพระธาตุหริภุญไชยที่เป็นพระมหาธาตุกลางเมืองกลางเวียงลำพูน หรือพระธาตุเจดีย์หลวงที่เป็นพระมหาธาตุกลางเวียงเชียงใหม่ องค์พระธาตุไฮสร้อยยุคแรกสร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์มีฐานเขียงสี่เหลี่ยมจำนวน ๓ ชั้น ส่วนที่ต่อสูงขึ้นได้พังทลายไม่ปรากฎหลักฐาน มีการบูรณะจำนวนหลายครั้งที่ปรากฎมีการบันทึกชัดเจน มี ๓ ครั้ง คือ
– บูรณะครั้งแรกสมัยครูบาจอสูง เป็นเจ้าอาวาสช่วงประมาณพ.ศ.๒๓๔๕ – บูรณะครั้งที่สอง สมัยครูบาจันธิมา (ภายหลังได้รับตำแหน่งเป็นพระใบฎีการูปแรกของอำเภอลอง)เป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ (จ.ศ.๑๒๗๒) ผู้อุปถัมภ์ในการบูรณะครั้งนี้นำโดย เจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิต (เจ้าน้อยบุญทวงศ์ ณ ลำปาง) เจ้าผู้ครองนครลำปางพระองค์สุดท้าย (พ.ศ.๒๔๔๐-๒๔๖๕) หรือที่จารึกก้านฉัตรพระธาตุไฮสร้อยที่เจ้าหลวงบุญวาทย์สร้างถวายปรากฎพระนามว่า” เจ้าบัวพิตรบุญวาทย์วงศาเอกราชสัมมยะกัปปะปุรีสะหรี” ซึ่งก่อนหน้านี้ใน พ.ศ.๒๔๔๖ พระองค์ก็ได้เป็นเจ้าอุปถัมภ์บูรณะพระธาตุขวยปูมาก่อนแล้ว ส่วนผู้ร่วมอุปถัมภ์ในการบูรณะพระธาตุไฮสร้อยมีทั้งฝ่ายเมืองนครลำปางและเมืองลองฝ่ายเมืองนครลำปาง คือเจ้าราชบุตร(เจ้าน้อยแก้วเมืองปวน ณ ลำปาง).เจ้าไชยสงคราม(เจ้าน้อยเปี้ย ณ ลำปาง),เจ้าน้อยศรีสองเมือง ณ ลำปาง รองแขวงเมืองลอง,เจ้าแสนปัญญา ณ ลำปาง,เจ้าน้อยคำแสน ณ ลำปาง,แม่เจ้าหอม ณ ลำปาง,แม่เจ้าจันทน์คำ ณ ลำปาง พร้อมกับพระญาติวงศ์เจ้านายขุนนางและชาวเมืองนครลำปาง ส่วนทางฝ่ายเมืองลอง ก็มีพ่อเมืองลองทั้ง ๔ คือพญาวังใน (ต้นตระกูล”วังสมบัติ”)พญาราชสมบัติ,พญาประเทศโสหัตติ (ต้นตระกูล”เมืองลอง”)พญาเมืองชื่น,แสนอ้วน(พ่อน้อยหลักอ้วน จาอาบาล )ผู้ใหญ่บ้านไฮสร้อยพร้อมกับชาวบ้านไฮสร้อยและชาวเมืองลองบูรณะแล้วเสร็จและทำการฉลองพระธาตุไฮสร้อย เมื่อวันพุธที่ ๒๒ เดือน มิถุนายม พ.ศ.๒๔๕๓ ตรงกับเดือน ๙ เป็ง (เดือน ๙ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่)

ร่วมแสดงความคิดเห็น