รพ.มหาราชฯ รุกตรวจสอบพื้นที่ ร.ร.สอนคนตาบอดภาคเหนือ เชียงใหม่ หลังพบคลัสเตอร์โควิด

พบคลัสเตอร์โควิด-19 ในโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ นักเรียน ครู พี่เลี้ยง ติดเชื้อกว่า 10 ราย รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เร่งระดมทีมแพทย์พยาบาล เข้าติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นแยกกักตัวแบบ Home Isolation แล้ว

ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ผ่านมา โรงพยาบาลมหาราชฯ ได้รับแจ้งจากทางสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ว่าพบเด็กในความดูแลของโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ (เชียงใหม่) มีผลตรวจ ATK เป็นบวก โดยเป็นการตรวจหลังจากวันพุธที่ 26 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าเด็กมีอาการไข้ หนาว ปวดศีรษะ จำนวน 2 ราย หลังรับแจ้ง ทางทีมศูนย์สร้างเสริมสุขภาพของโรงพยาบาลมหาราชฯ จึงส่งทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ลงพื้นที่ทันที ในช่วงเย็นของวันที่ 28 ม.ค. 65 เพื่อติดตามดูแลควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เบื้องต้นได้แยกเด็ก 2 รายที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกดังกล่าว ออกไปกักตัวในห้องที่เตรียมไว้ และได้ทำการรักษาในระบบ Home Isolation คือการกักตัวที่บ้านโดยใช้พื้นที่ของโรงเรียน ซึ่งโดยปกติโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งนี้เป็นโรงเรียนประจำ (กินนอน) อยู่แล้ว ดังนั้นจึงค่อนข้างสะดวกในการจัดการรักษาแบบแยกกักตัว (Home Isolation) เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อได้ง่าย

ล่าสุดจากการตรวจคัดกรองเพิ่มเติม ในส่วนของกลุ่มสัมผัสเสี่ยงในพื้นที่โรงเรียน เมื่อวันที่ 28 ม.ค. พบว่ามีเด็ก (พิการตาบอด) ที่อยู่ในโรงเรียนประจำนี้ มีผลตรวจเป็นบวกอีก จำนวน 10 ราย ครูผู้สอน 1 ราย ครูพี่เลี้ยง 1 ราย รวมทั้งสิ้น 12 ราย

“โดยพื้นฐานการดำเนินชีวิตประจำวันแล้ว ผู้ที่ตาบอดต้องอาศัยการใช้มือลูบคลำสัมผัสสิ่งต่างๆ มากกว่าคนปกติ ทำให้มีการสัมผัสพื้นผิวบ่อย จึงมีโอกาสติดเชื้อค่อนข้างง่าย เมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในลักษณะนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางโรงพยาบาลมหาราชฯ ต้องรีบลงพื้นที่ เพื่อดูแลผู้ป่วยเป็นกรณีพิเศษเพราะผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการมองเห็น โดยจากการประสานงานกับทางผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดในแนวทางการดำเนินการการควบคุมโรค ล่าสุดทางผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือจึงได้ทำการปิดทำการโรงเรียนไปก่อนในเบื้องต้น”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับนักเรียนที่นอนอยู่ในโรงเรียน ได้ทำการแยกผู้ที่ป่วยและไม่ป่วยออกจากกัน ทีมโรงพยาบาลมหาราชฯ ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำ และมีพยาบาลที่ชำนาญด้านการติดเชื้อ ช่วยดูแลเรื่องแนวทางการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ขณะนี้ถือว่าเด็กนักเรียนที่ติดเชื้อยังมีอาการไม่มาก จึงตัดสินใจให้การดูแลในลักษณะคล้ายกับเป็นการดูแลรักษาภายในโรงเรียนโดยมีการใช้ระบบการติดตามดูแลแบบแพทย์ทางไกล ในการที่จะประสานงาน เข้าไปยังพี่เลี้ยงและครู ผู้ดูแลเด็กๆ มีการให้คำปรึกษาต่างๆ มีการติดตามดูแลอาการ อาทิ การวัดไข้ วัดปริมาณออกซิเจนในเลือด เพื่อส่งข้อมูลกลับเข้ามาในระบบ รวมถึงการประสานงานกับกุมารแพทย์ในการให้การดูแลแบบแพทย์ทางไกล เพื่อที่จะประเมินและดูแลผู้ป่วยเป็นระยะๆ ทุกวัน ตลอดระยะเวลาของการดูแลผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน
สำหรับแนวทางการสืบค้นหาผู้ที่มีการติดเชื้อเพิ่มเติม โรงพยาบาลมหาราชฯ ได้ประสานงานไปยัง สำนักงานควบคุมโรคเขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะได้ลงพื้นที่ในการช่วยทำการเก็บตัวอย่างเชื้อโดยเก็บจากโพรงจมูก แล้วส่งเพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม หากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็จะทำการย้ายผู้ติดเชื้อเหล่านั้นให้อยู่ในที่พักที่เดียวกัน โดยมีพี่เลี้ยง และทีมพยาบาลในพื้นที่คอยดูแลผ่านระบบทางไกลเช่นกัน สำหรับผู้ที่ติดเชื้อและทำการตรวจและผลเป็นลบ จะทำการสังเกตอาการไว้อยู่ในห้องพักอีกแห่งหนึ่งโดยแยกจากกัน และติดตามตรวจเชื้อเป็นระยะ จนกว่าจะพบว่าพื้นที่นี้ปลอดภัย และทุกคนหายจากโรค โรงพยาบาลมหาราชฯ จึงจะถอนทีมงานออกมา

“อีกส่วนหนึ่งที่ รพ.มหาราชฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือการดูแลขยะติดเชื้อ ทางโรพยาบาลได้ส่งทีมงานบริการกลางเข้าไปดูแลในเรื่องขยะติดเชื้อ การดูแลเรื่องขยะ รวบรวมขยะ และนำขยะติดเชื้อเหล่านั้น มาทำลายตามระบบของโรงพยาบาลต่อไป

อย่างไรก็ตามในขณะนี้สถานการณ์ของคลัสเตอร์ดังกล่าว ยังอยู่ในช่วงที่เรากำลังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มุ่งมั่นในการให้การดูแลอย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้ป่วยตาบอดนั้นมีความเสี่ยงอย่างยิ่งในการติดเชื้อ และอาจจะมีเปอร์เซ็นต์ของการติดเชื้อได้ง่ายมาก แต่เราก็มั่นใจว่าผู้ป่วยเหล่านี้อาการไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ ได้รับวัคซีนตามแผนการให้วัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข และมีทีมแพทย์ พยาบาลให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ผ่านพ้นไปด้วยดี” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น