(มีคลิป)สหรัฐอเมริกา ทำพิธีปิด “โครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมล้านนาโบราณ” ที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา เชียงใหม่

สหรัฐอเมริกา ปิดโครงการสนับสนุน “อนุรักษ์สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมล้านนาโบราณ” ที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา จ.เชียงใหม่ พร้อมเดินหน้าสร้างแหล่งเรียนรู้ “ภูมิปัญญาเชิงช่าง” สืบสานวัฒนธรรมล้านนา ในอนาคต
วันที่ 28 มกราคม 2565 รศ. โรม จิรานุกรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนายฌอน โอนีลล์ กงสุลใหญ่สหรัฐฯ เชียงใหม่ ในพิธีปิดโครงการกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (AFCP) ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 2 ปี (2562-2564) และได้บรรลุผลเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โครงการกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (AFCP) มอบทุนสนับสนุนจำนวน 150,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯให้แก่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่ออนุรักษ์เรือนโบราณล้านนาในเชียงใหม่ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลาวัณย์ เศวตเศรนี ผู้อำนวยการโครงการและผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้รับมอบทุนดังกล่าว โครงการการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนาโบราณในเชียงใหม่ ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีระยะการดำเนินโครงการแบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลารวมทั้งสิ้น 2 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ2562-2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ ซ่อมแซม สำรวจและจัดทำรูปแบบรายการโครงสร้างของสภาพเรือนโบราณ โดยผู้เชี่ยวชาญ โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของเรือนล้านนาเป็นเรือนไม้ที่มีอายุกว่าร้อยปี ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและผู้เยี่ยมชมได้เรียนและรู้จักการอนุรักษ์เรือนโบราณล้านนา จากสถานที่จริง และจากพื้นที่ดำเนินการจริง มีการเก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูล ประกอบไปด้วยภูมิปัญญาของช่างกับการซ่อมแซมเรือนโบราณล้านนากับการอนุรักษ์ ผ่านการเผยแพร่ฐานข้อมูลในรูปแบบสื่อดิจิทัล นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า “ตั้งแต่ปี 2544-ปัจจุบัน กองทุน AFCP มอบทุนสนับสนุนให้โครงการในไทยแล้ว 20 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะสนับสนุนปีละ 1 โครงการ เลือกเฉพาะโครงการที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมเท่านั้น ส่วนอนาคตจะมีการขยายจำนวนโครงการ และงบประมาณสนับสนุนหรือไม่ อยู่ในระหว่างการพิจารณา

ความสำเร็จของโครงการไม่ใช่แค่การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ และนักศึกษามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านการอบรม และสัมมนาโดยผู้เชี่ยวชาญ” นายไมเคิล กล่าวต่อว่า โครงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมล้านนาโบราณ เป็นหนึ่งในโครงการที่กองทุน AFCP สนับสนุนงบประมาณ 150,000 เหรียญสหรัฐ ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 2 ปี (พ.ศ.2562 – 2564) เพื่อบำรุงซ่อมแซมเรือนล้านนา ซึ่งผลลัพธ์คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะเป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ จะใช้ภูมิปัญญาล้านนา “ฝาไหล” มาประยุกต์ใช้กับการก่อสร้างอาคารสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำเชียงใหม่ด้วย

รศ.โรม จิรานุกรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นภาคีของสหรัฐฯมายาวนาน โครงการนี้ไม่เพียงการซ่อมแซมเรือนโบราณ แต่เป็นการตระหนักคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมล้านนาด้วย ผศ.วิลาวัณย์ เศวตเศรนี ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ และผู้อำนวยสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โครงการนี้จัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์เรือนโบราณ 10 หลัง และยุ้งข้าว 4 หลัง โดยระยะต่อไป สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมจะดำเนินรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาเชิงช่างที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเรือน พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับบุคคลทั่วไป นักศึกษาปริญญาตรี และปริญญาโทของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงจัดอบรมเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบออนไลน์ และจัดแสดงนิทรรศการ “ภูมิปัญญาสล่าสร้างเรือน” ให้กับผู้ที่สนใจด้วย ทั้งนี้การดำเนินกิจกรรมดังกล่าว อยู่ภายใต้การรักษามาตรการความปลอดภัย ด้านสาธารณสุข ทุกคนที่ร่วมกิจกรรม และสื่อมวลชนต้องผ่านการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็มและตรวจโควิด-19 หรือแสดงผลการตรวจ ATK ไม่เกิน 72 ชม. อีกทั้งในระหว่างทำกิจกรรม ทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการ เว้นระยะห่างและสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

ร่วมแสดงความคิดเห็น