ไขข้อสงสัย ทำไม ? ผู้ป่วยสีเขียวควรรักษาที่บ้าน พร้อมรู้จัก “เจอ แจก จบ” ให้มากขึ้น

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดรวดเร็วแต่อาการไม่รุนแรงถึงไม่มีอาการ เฉลี่ยแล้วในระยะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อรายวัน 20,000 รายขึ้นไป ซึ่งจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายวันนี้มาจากการตรวจยืนยันแบบ RT-PCR ไม่รวมผู้เข้าข่ายติดเชื้อที่ตรวจด้วยชุดตรวจแบบ ATK อีกราววันละ 20,000 – 30,000 คน โดยตัวเลขผู้เข้าข่ายติดเชื้อจากการตรวจด้วย ATK อาจเป็นส่วนสำคัญทำให้มีการเพิ่มแนวทางการรักษาแบบผู้ป่วยนอก(OPD) เจอ แจก จบ

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอมิครอน มีอาการเบาถึงไม่มีอาการ หรือเรียกอีกอย่างว่า “ผู้ป่วยสีเขียว” มีมากถึง 90% ของผู้ป่วยในแต่ละวัน หากยังเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลย่อมส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในภาวะที่เรียกว่า “ล้นเตียง” ได้ ดังนั้น แนวทางการรักษาผู้ป่วยสีเขียวแบบ “เจอ แจก จบ” จึงถูกนำมาใช้เสริมเพิ่มเติมกับแบบโฮมไอโซเลชั่น หรือ HI รักษาตัวที่บ้านและคอมมูนิตี้ไอโซเลชั่น หรือ CI รักษาตัวในชุมชน

สธ. แจงที่มา “เจอ แจก จบ”
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ว่า ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถเข้ารับการรักษาในลักษณะเป็นผู้ป่วยนอก (OPD) คือ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ดูแลรักษาตัวที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) ได้ นี่คือที่มาของคำว่า เจอ แจก จบ ที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข นำมาอำนวยความสะดวกให้บริการกับประชาชน อีกอย่างทางกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้มีการจัดการโรคโควิด -19 จากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เปลี่ยนผ่านเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) คือ โรคลดความรุนแรงลง มีระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพและประชาชนมีภูมิต้านทานที่เพียงพอ โรคไม่ได้มีภาวะอันตราย

* สรุป 7 เหตุผลเข้าใจง่าย ทำไมผู้ป่วยสีเขียวติดเชื้อโอมิครอน ควรรักษาตัวทึ่บ้าน*
1. ผู้ป่วยที่จะดูแลตัวเองที่บ้าน ไม่มีอาการถึงอาการน้อย ไม่มีภาวะเสี่ยง
2. ผู้ป่วย 90% ไม่มีอาการถึงมีอาการน้อย
3. ผู้ป่วยหนักถึงเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัยหรือพวกมีโรคประจำตัว (ภาวะเสี่ยง)
4. ผู้ป่วยสูงวัย – ผู้ป่วยมีโรคอื่นร่วม มีภาวะเสี่ยง แนวทางการรักษาจะรับไว้ในโรงพยาบาล
5. ผู้ป่วยสีเขียว เมื่อดูแลตัวเองที่บ้าน มีโอกาสน้อยกว่า 1% ที่จะกลายเป็นสีเหลือง หรืออาการหนักขึ้นกว่าเดิม
6. ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะก่อนหน้านี้ใช้งบประมาณถึง 50,000 บาทต่อคน สำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชน
7. ลดภาระเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำงานหนักมากว่า 2 ปีแล้ว

การรักษาโควิด-19 แบบ เจอ แจก จบ ขั้นตอนอย่างไร
การรักษาแบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ ที่เริ่มใช้เมื่อ 1 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา มีขั้นตอน คือ
1. หากมีอาการทางเดินหายใจหรือประวัติสัมผัสเสี่ยงสูงให้ตรวจด้วย ATK ที่อาจหามาด้วยตัวเอง หรือทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. แจกฟรี (สามารถรับได้ผ่านการตอบคำถามประเมินความเสี่ยงทางแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง จากนั้นให้ไปขอรับได้ที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมกระจายชุดตรวจ ATK ได้แก่ ร้านยา คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด หน่วยเทคนิคการแพทย์ฯ หรือหน่วยบริการอื่นกว่า 2,000 แห่ง ซึ่งจะแจกให้คนละ2 ชุด สำหรับผู้ที่ไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน สามารถขอรับโดยตรงได้ที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว)
2. เมื่อตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากผลเป็นบวก ให้เข้าระบบการรักษาด้วยการโทรไปยังสายด่วน สปสช.1330 ที่มีการเพิ่ม Robot Screening ช่วยคัดกรอง
3. จากนั้นให้ไปรับบริการที่คลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) หรือคลินิกสงสัยผู้ติดเชื้อ (PUI) ที่มีในทุกโรงพยาบาล หากมีภาวะเสี่ยง ให้โทรติดต่อโรงพยาบาลที่มีสิทธิการรักษาเพื่อประเมินภาวะเสี่ยง ได้แก่ เป็นกลุ่ม 608 มีโรคประจำตัวเสี่ยงสูงเรื้อรัง หรือตั้งครรภ์ โดยอาการที่ติดเชื้อโควิดที่มีอาการไม่มาก จะให้เข้าระบบการกักตัวที่บ้าน ชุมชน กักตัวมี่โรงแรม และฮอสปิเทล แต่หากมีภาวะเสี่ยงและอาการรุนแรงจะส่งรับการรักษาในโรงพยาบาล

จากทั้ง 3 ขั้นตอน เมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่า มีความพร้อมและไม่มีภาวะเสี่ยง สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวเองที่บ้าน หรือแบบ เจอ แจก จบ โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาตามระดับอาการของโรค ใน 3 สูตร ได้แก่
1. ยาฟาวิพิราเวียร์
2. ยาฟ้าทะลายโจร
3. ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก
*ความเหมือน – ความต่าง เจอ แจก จบ กับ HI/CI *
อย่างที่กล่าวในช่วงต้นว่าการรักษาแบบ เจอ แจก จบ เป็นแนวทางเสริมเพิ่มเติมจาก HI/CI ทั้งสองแบบจึงมีส่วนคล้ายและต่างกัน
ในส่วนต่างพอแยกออกได้ดังนี้
– การโทรติดตามอาการจากบุคลากรสาธารณสุข
เจอแจกจบ ทางแพทย์หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขโทรติดตามอาการผู้ป่วยติดเชื้อ 1 ครั้ง ในรอบ 48 ชั่วโมง แต่ HI /CI มีการโทรติดตามอาการทุกวัน โดยการโทรติดตามอาการ 1 ครั้งใน 48 ชั่วโมงนี้จะช่วยทำให้แพทย์หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข1คน สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้นในรอบ 48 ชั่วโมง ซึ่งสอดรับกับจำนวนผู้ป่วยสีเขียวที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลทางการแพทย์ที่ประเมินแล้วว่า การโทรติดตามอาการผู้ป่วย 1 ครั้งในรอบ 48 ชั่วโมง ถือว่าเพียงพอสำหรับผู้ติดเชื้อไม่มีภาวะเสี่ยงและได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว
– อุปกรณ์ตรวจประเมิน
เจอ แจก จบ ไม่มีให้ แต่แบบ HI/CI จะได้รับอุปกรณ์เพื่อติดตามอาการประจำวัน
– บริการอื่นๆ
เจอ แจก จบ ไม่มีบริการส่งอาหารฟรีให้ 3 มื้อ แต่แบบ HI/CI มีบริการให้ในส่วนนี้

ด้านความเหมือน ดังนี้
-การแยกกักตัวที่บ้าน
ทั้ง เจอแจกจบและ HI /CI เป็นผู้ป่วยนอกที่ต้องแยกกักตัวที่บ้านหรือชุมชน จนครบตามกำหนด
– การจ่ายยา
ทั้งสองแบบ แพทย์จะจ่ายยาให้ตามระดับอาการของโรค ใน3 สูตรอย่างที่กล่าวไว้
– ระบบส่งต่อเมื่อมีอาการแย่ลง
ทั้งสองแบบหากผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น ผู้ป่วยสามารถติดต่อกลับมายังโรงพยาบาล และจะได้รับการส่งตัวต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที
เจอ แจก จบ รักษาราบรื่น แต่ยังมีปัญหาเรื่องคู่สายโทรศัพท์
กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบ เจอ แจก จบ ทุกวัน ตั้งแต่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ไม่พบปัญหาจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ารักษาในระบบนี้ได้แล้ว แต่มีปัญหาในส่วนการรับสายด่วน สปสช.1330 ซึ่งเป็นช่องทางรับแจ้งนำผู้ป่วยเข้าระบบ แต่ละวันมีประชาชนโทรเข้ามาหลายหมื่นสาย หลายรายโทรติดยาก หลายรายโทรไม่ติดเลย เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น