กรมอนามัย แนะ หน้าร้อน เลือกซื้ออาหารทะเลที่สด ปรุงสุก เลี่ยงกิน สุกๆ ดิบๆ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ประชาชนเลือกซื้ออาหารทะเลจากสถานที่จำหน่ายอาหาร ที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ โดยได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ เพื่อความมั่นใจด้านความปลอดภัย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อน อาหารทะเลจะเน่าเสียง่าย จึงทำให้ผู้ประกอบการบางรายใช้วิธีการที่ผิดเพื่อรักษาความสด และชะลอการเน่าเสียของอาหารทะเล ด้วยการนำมาแช่สารฟอร์มาลีน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะสารฟอร์มาลีนเป็นสารที่ห้าม นำมาใส่อาหาร หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลีนไปในปริมาณ 60-90 มิลลิกรัม จะทำให้เป็นพิษ

ต่อระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้องปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้เสียชีวิต เพราะระบบหมุนเวียนโลหิตล้มเหลว

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ประชาชนจึงควรเลือกซื้ออาหารทะเลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดที่ได้มาตรฐาน “ ตลาดสด น่าซื้อ” ของกรมอนามัย ซึ่งจะมีการสุ่มตรวจการปนเปื้อนสารฟอร์มาลีน อยู่เสมอ และควรสังเกตอาหารทะเลที่จะเลือกซื้อ เช่น ซื้อปลา ต้องเลือกปลาที่มีเหงือกสีแดง ไม่เขียวคล้ำ เนื้อแน่น กดไม่บุ๋ม ไม่มีกลิ่นคาว ตาใส ไม่ช้ำเลือดหรือขุ่นเป็นสีเทา การเลือกซื้อปู จะต้องเลือกปูที่ยังไม่ตาย ตาต้องใส และขาต้องติดตัวปูครบทุกขา การเลือกซื้อกุ้ง ต้องมีเนื้อแน่น ไม่มีกลิ่นคาวเหม็นคล้ายกลิ่นแอมโมเนีย ครีบและหางต้องเป็นมันสดใส หัวกับตัวจะยังติดกันแน่น เพราะกุ้งที่ไม่สด หัวหรือส่วนที่เป็นเปลือกส่วนหัว จะไม่ติดกับตัว

“ทั้งนี้ เมื่อซื้ออาหารทะเลมาแล้ว หากไม่นำมาปรุงกินทันที ควรล้างทำความสะอาดแยกเก็บใส่ตู้เย็น ที่ช่องแช่แข็ง อุณหภูมิติดลบที่ปรับตั้งได้ หากแช่ในอุณหภูมิ-1 ถึง 1 องศาเซลเซียส ระยะเวลาในการเก็บ ที่เหมาะสม 1-2 วัน เพื่อชะลอการเน่าเสีย ก่อนนำมาปรุงอาหารต้องล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ที่สำคัญ เน้นปรุงสุกด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงการกินแบบดิบ หรือ สุกๆ ดิบๆ และขอให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อลดความเสี่ยงโรคอาหารเป็นพิษ และอุจจาระร่วง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น