เชียงใหม่ ยื่นขอให้ทบทวนสร้างสถานกงสุลแห่งใหม่

กลุ่มประชาชนคนไทยยื่นหนังสือถึงสหรัฐฯ ทบทวนสร้างสถานกงสุลแห่งใหม่ ห่วงใช้ประโยชน์ทางทหารขัดแย้งมิตรประเทศ

ช่วงสายวันนี้ (25 เม.ย.65) นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา ตัวแทนกลุ่มประชาชนคนไทย ร่วมกับกลุ่มประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีทั้งตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มคนเชียงใหม่รักสถาบัน ( กปปส.) กว่า 20 คน เดินทางไปที่สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผ่านสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ ทบทวนการใช้ประโยชน์ของสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ไม่ให้ส่งผลกระทบมิตรประเทศของไทย

จดหมายเปิดผนึก มีเนื้อหาสำคัญที่แสดงความกังวลถึงโครงการก่อสร้างสถานกงสุลใหญ่สหรัฐแห่งใหม่ ที่ตำบลหนองป่าครั่ง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างบนพื้นที่ขนาด 16 ไร่ ติดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง ซึ่งตามแผนจะก่อสร้างเสร็จสิ้นในปีพ.ศ. 2566 โดยโครงการก่อสร้างดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุน 284 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 8,800 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงาน “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐอเมริกา” (INDO-PACIFIC STRATEGY OF THE UNITED STATES) โดยระบุถึงประเทศไทยว่า เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในฐานะพันธมิตรของสหรัฐฯ ณ จุดศูนย์กลางอาเซียน จึงทำให้โครงการสร้างสถานกงสุลใหญ่สหรัฐแห่งใหม่ ถูกจับตาและวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นกลไกสำคัญของยุทธศาสตร์ดังกล่าว

เมื่อผนวกกับความเคลื่อนไหวของสหรัฐในการฝึกซ้อมรบ “คอบร้าโกลด์ 2022” ที่ผ่านมา ยังทำให้เกิดข้อสงสัยอย่างยิ่งว่า สหรัฐฯใช้ห้วงโอกาสนั้นนำอุปกรณ์จารกรรมที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง ระบบควบคุมปฏิบัติการอากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Aerial Vehicle : UAV และระบบควบคุมขีปนาวุธเข้ามาในประเทศไทย ด้วยเหตุที่ในสถานกงสุลใหญ่ อยู่ห่างเพียง 300 กิโลเมตรจากชายแดนจีน และยังใกล้กับเมียนมาและลาว

ด้วยเหตุนี้การเสริมขีดความสามารถในการรวบรวมข่าวกรองจากพื้นที่ภาคเหนือของไทยให้กับสถานกงสุลใหญ่สหรัฐ เชียงใหม่ จึงสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐ เพื่อหวังสกัดและคานดุลอำนาจกับสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นมิตรประเทศของไทย

ที่สำคัญเมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่มั่นคงในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือพม่า ที่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเมียนมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียและจีน กับบรรดาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา จนทำให้ไทยต้องแบกรับภาระหนักเรื่องผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะแถบจังหวัดชายแดนภาคเหนือของไทย

กลุ่มประชาชนคนไทยขอย้ำว่า ข้อห่วงกังวลที่มีต่อการก่อสร้างสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ มิใช่ข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย เมื่อประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งสถานกงสุลใหญ่สหรัฐ ที่เชียงใหม่เมื่อ 72 ปีที่ผ่านมา เริ่มแรกถูกใช้เป็นสถานีข่าวกรองเพื่อปฏิบัติการร่วมกับกองพล 93 ก๊กมินตั๋ง หรือพรรคคณะชาติของจีน ที่อพยพออกจากประเทศจีนไปยังรัฐฉาน ทางตะวันออกของเมียนมาในปีพ.ศ. 2493 หลังพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่

นอกจากนี้สหรัฐเคยใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ในการสอดแนมและจารกรรมมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ในสมัยสงครามเวียดนาม เช่น กรณีค่ายรามสูรในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งกองทัพสหรัฐได้มาตั้งสถานีเรดาร์เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางทหารของฝ่ายตรงข้าม โดยค่ายแห่งนี้ติดตั้งเครื่องมือสื่อสารและการข่าวทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ค่ายรามสูรจึงทำหน้าที่เป็นสถานีข่าวกรองทางทหารสำหรับการสื่อสารระหว่างสหรัฐอเมริกากับหน่วยข่าวกรองต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก
ดังนั้นเมื่อทบทวนบทเรียนจากอดีต จึงทำให้กลุ่มประชาชนคนไทย ต้องจับตาความเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐฯในภาคเหนือของผืนแผ่นดินไทย เพื่อไม่ให้จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยว ด้านวัฒนธรรม สำหรับประชาชนชาวไทยและชาวโลก ทั้งยังเป็นพื้นที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้าโขง กลับกลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้งไร้ความปลอดภัย และอาจเกิดการเผชิญหน้ากับมิตรประเทศของไทย

กลุ่มประชาชนคนไทย เรียกร้องไปถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

  1. ทบทวนการก่อสร้างสถานกงสุลใหญ่สหรัฐ เชียงใหม่ ให้ปลอดจากการก่อสร้างในลักษณะที่เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายอาวุธยุทโธปกรณ์ และควบคุมปฏิบัติการทางทหาร หรือกองกำลังติดอาวุธ รวมถึงการเป็นฐานปฏิบัติการของสำนักข่าวกรองกลาง หรือ ซีไอเอ
  2. ราชอาณาจักรไทย เป็นประเทศที่ต้องการเชื่อมสัมพันธ์กับทุกประเทศในมิติแห่งการสร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนาเพื่อความผาสุกของประชาชน เพื่อความมั่นคงของภูมิภาค และสันติภาพของโลก หากการดำเนินนโยบายเพื่อความมั่นคงของสหรัฐ แต่สร้างความเสี่ยงภัยให้กับประชาชนไทย และสร้างความเคลือบแคลงจากจีน การก่อสร้างสถานกงสุลใหญ่สหรัฐ เชียงใหม่ จึงควรทบทวนเพื่อมิให้เกิดเงื่อนไขการเผชิญหน้ากับมิตรประเทศของไทย
  3. สถานการณ์ความไม่มั่นคงในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นเรื่องภายในของเมียนมา ซึ่งสหรัฐควรเคารพจุดยืนในความเป็นกลางของไทย และบรรทัดฐานอาเซียนต่อการไม่แทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา
  4. ขอให้สหรัฐอเมริกายุติการส่งยุทโธปกรณ์หรือกองกำลังผ่านชายแดนไทยไปยังเมียนมา เพื่อขจัดความเสี่ยงภัยที่จะลุกลามไปสู่สงครามตัวแทนในอนาคต

นายนิติธร กล่าวว่า ประชาชนกลายกลุ่มในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีทั้งกลุ่มเสื้อแดง กปปส. และ กลุ่มประชาชนคนไทย มาร่วมกันครั้งนี้เพราะเห็นว่าการก่อสร้างและใช้ประโยชน์ของสถานกงสถลฯ อาจเป็นภัยต่อเชียงใหม่และประเทศไทย จึงมีการเสนอให้พิจารณาในประเด็นต่าง ๆ โดยเห็นว่าการก่อสร้างสถานกงสุลแห่งใหม่ เหตุผลยังรับฟังไม่ได้ ขณะที่การตรวจสอบทั้งโครงสร้างอาคารสถานที่และอุปกรณ์ภายในก็ยังตรวจสอบไม่ได้ เนื่องจากเป็นสถานกงสุลฯ จึงทำให้เกิดความกังวลและห่วงใย จนนำมาสู่การรวมตัวยื่นหนังสือครั้งนี้

นายดำรง ม่วงเลี่ยม ตัวแทนกลุ่มคนรักสถาบันเชียงใหม่ บอกว่า วันนี้กลุ่มตค่าง ๆ วางอุดมการร์ทางการเมือง ละวางเรื่องเสื้อสีต่าง ๆ มาร่วมกันเพราะไม่อย่ากให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ล่อเป้าของขั้วมหาอำนาจโลก ในวันนี้จึงพร้อมใจกันออกมาร่วมมือเพื่อปกป้องเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของการเมืองโลก

ร่วมแสดงความคิดเห็น