(มีคลิป) แม่ลาน้อย วอนตรวจการก่อสร้างวงเวียน

ชาวอำเภอแม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ร้องผ่านสื่อไปถึงหน่วยงานกระทรวงคมนาคม ให้ลงมาตรวจสอบการก่อสร้างถนนวงเวียน บริเวณใจกลางชุมชน แหล่งเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นถนนที่แคบทำให้สัญจรยากลำบาก สถานที่จอดรถหายไป และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ที่สำคัญเมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมโรงพยาบาลแม่ลาน้อย ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้ป่วยโดยตรง เรื่องดังกล่าวเคยมีการร้องเรียนไปแล้ว

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 นางสาวดรุณี อายุ 53 ปี อยู่บ้านหมู่ 8 บ้านท่าสองแคว ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนว่า การก่อสร้างถนนวงแหวน บริเวณหน้าโรงพยาบาลแม่ลาน้อย ต.แม่ลาน้อยฯ ของหน่วยงานแขวงทางหลวง ได้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างหนัก เนื่องจากพื้นที่เดิม เป็นแหล่งเศรษฐกิจค้าขายของชาวอำเภอแม่ลาน้อย การก่อสร้างวงเวียนดังกล่าวส่งผลกระทบคือ ทำให้ถนนเดิมที่กว้างขวาง ได้แคบลงและทำให้รถนานาชนิดสัญจรผ่านไปมาด้วยความยากลำบาก และส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง นอกจากนั้นขอบถนนเดิม ที่ติดหน้าร้านค้าพาณิชย์ต่างๆ รวมไปถึงธนาคาร สาขาแม่ลาน้อย เป็นที่จอดรถ ปัจจุบันไม่มีที่จอดรถ และยังมีการทำร่องระบายน้ำข้างถนน เป็นร่องรูปตัววี ซึ่งไม่มีฝาปิด ทำให้เจ้าของร้านต่างๆ ต้องสร้างฝาปิดร่องระบายน้ำเพื่อให้สามารถนำยานพาหนะเข้ามาจอดในที่ของตนเองได้สะดวก ที่สำคัญก็คือ การสร้างถนนวงแหวนบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการทำลายถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก เส้นเดิมที่เข้าสู่โรงพยาบาลแม่ลาน้อย ส่งผลให้การสัญจรไม่สะดวกกระทบต่อการให้บริการด้านการแพทย์ของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล และนอกจากนั้น เดิมร้านค้าที่ขายข้างถนน ไม่มีที่ขายของ ในส่วนพื้นที่เดิม กลับมีการราดยางมะตอย ที่ไม่ได้ตามแบบ ผิวขรุขระ และเมื่อฝนตกลงมา น้ำบนถนนได้ไหลเข้าสู่บ้านเรือนประชาชน ทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบทั้งด้านด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัยบนท้องถนน กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างหนัก ซึ่งอยากจะขอร้องให้สื่อมวลชนช่วยเป็นกระบอกเสียง ไปถึงผู้บริหารระดับสูงในกรุงเทพมหานคร ให้ลงมาตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง รวมถึงการสอบในเรื่องการทุจริตในการก่อสร้างด้วย เนื่องจากพบว่า งบประมาณที่ก่อสร้าง เป็นงบที่จัดลงก่อสร้างอีกพื้นที่หนึ่ง ไม่ใช่พื้นที่ปัจจุบัน ทั้งนี้ ทราบมาว่า ผู้ออกแบบถนนดังกล่าวเคยออกแบบก่อสร้างถนนในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และพบว่ามีปัญหาต่างๆ นานา อีกด้วย

นางแสงเพชร ผลวานิชย์ เจ้าของร้านที่อยู่ติดกับถนนวงแหวงเจ้าปัญหา ระบุว่า การก่อสร้างดังกล่าวได้มีการทำร่องระบายน้ำเป็นรูปตัววี โดยไม่ได้มีฝาปิดร่องระบายน้ำทำให้ เจ้าของร้านที่อยู่ติดถนนวงแหวนดังกล่าวเดือดร้อน เพราะไม่สามารถนำรถข้ามเข้ามาในบ้านของตนเองได้ จึงจำเป็นต้องทำฝาปิดร่องระบายน้ำด้วยตนเอง โดยเสียค่าใช้จ่ายอย่างต่ำ 2 หมื่นบาท และมีร้านค้าจำนวนไม่ต่ำกว่า 30 ร้านที่ได้รับผลกระทบจากร่องระบายน้ำดังกล่าว โดยในที่นี้ ยังรวมไปถึงธนาคารออมสิน สาขาแม่ลาน้อย ที่ได้รับผลกระทบไปด้วย

นางสมบูรณ์ พันธ์สมพงษ์ เจ้าของร้านอีกแห่งหนึ่ง ที่อยู่ติดกับธนาคารออมสิน ระบุเช่นกันว่า ตนต้องเสียเงินในการทำฝาปิดเพื่อให้สามารถนำรถเข้ามาถึงในหน้าร้าน โดยเฉพาะรถบรรทุกที่ต้องบรรทุกสินค้า เนื่องจากถนนหน้าร้านตนเอง แคบ และรถไม่สามารถจอดได้นานเพราะว่า จะมีรถที่เข้ามาในวงเวียน ผ่านหน้าร้านของตน จึงอยากให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดูแลและช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนใน อ.แม่ลาน้อยด้วย

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 นายโกศล เอกพิณทอง ตัวแทนชาวบ้าวบ้านตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร้องทุกข์มายังสื่อมวลชนในพื้นที่ ว่า ถนนสาย 108 แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่ บริเวณหน้า รพ.แม่ลาน้อยมีการสร้างถนน โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างคือ เพื่อลดอุบัติเหตุ เพื่อความสะดวกในการใช้ถนน เพื่อปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม เพราะแต่เดิมถนนบริเวณดังกล่าวเป็นทางโค้งขึ้นดอย เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เมื่อมีโครงการสร้างถนนขึ้นใหม่ ชาวบ้านแถบนั้นก็ดีใจ คิดว่าจะได้ลดอุบัติเหตุ และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

แต่ในขณะนี้ ถนนก่อเสร้างแล้วเสร็จ แต่กลับมีปัญหามากกว่าถนนเดิมที่มีอยู่ ซึ่งมีร้านค้าร้านอาหารที่ชาวบ้านจำหน่ายกันหลายร้านอยู่ริมทางดังกล่าว พอถนนสร้างเสร็จ ปรากฏว่า เกาะกลางถนนมีขนาดใหญ่มาก กว้างกว่าถนนที่รถวิ่งได้อีกด้วย รางระบายน้ำ มีการทำเป็นตัววี แบบไม่มีฝาปิด ซึ่งชาวบ้านต้องการทำเป็นตัวยู แล้วมีฝาปิด หรือแบบฝังท่อ จะดีกว่าหรือไม่

ประเด็นสำคัญของการร้องทุกข์ในครั้งนี้ คืออยากนำเสนอให้มีการตรวจสอบว่า การก่อสร้างถนนบริเวณดังกล่าวถูกต้องตามแบบแปลนหรือไม่ งบประมาณในการก่อสร้างเท่าไหร่ รางระบายน้ำแบบตัววี สามารถสร้างในพื้นที่ชุมชนได้หรือไม่ และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ร่วมแสดงความคิดเห็น