เอกชนขานรับ อุโมงค์แม่ฮ่องสอน-สะเมิง-เชียงใหม่

ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่มีการยื่นเรื่อง เพื่อประสานภาครัฐฯ ในการรื้อฟื้น โครงการถนนอุโมงค์เชื่อมระหว่าง แม่ฮ่องสอน -สะเมิง- เชียงใหม่นั้น เป็นแนวทางที่ดี แม้จะเป็นแผนงานที่เคยมีการปลุกกระแสนี้ มานานร่วม 30-40 ปีแล้วก็ตาม ทั้งนี้หากมีการหยิบยกโครงการดังกล่าวมาพิจารณาดำเนินการ คาดว่าจะมีผลดี มากกว่าผลกระทบ โดยเฉพาะจะเสริมสร้างเศรษฐกิจกลุ่มเหนือตอนบน 1 ทั้ง เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอนได้เป็นอย่างดี

สำหรับโครงการนี้ มีการยื่นเอกสารต่อภาครัฐฯ ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2547 จนกระทั่งมีมติ ครม.ในสมัยนั้นเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์ การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ให้พัฒนาให้เป็นประตูการค้า การลงทุน และศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์เชื่อมระหว่างประเทศ กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Maekong Subregion : GMS) รวมถึงกลุ่มความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า BIMSTEC (บิมเทค) เป็นการรวมตัวของ 7 ประเทศ ไทย เมียนมา ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน และเนปาล

โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการขุดอุโมงค์เพื่อร่นระยะทาง และประหยัดเวลา และค่าขนส่ง ถนนสายเชียงใหม่-สะเมิง-แม่ฮ่องสอน ต่อมามีรายงานสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ รวมระยะทาง 161 กิโลเมตร รวมเจาะอุโมงค์ 5 แห่ง วงเงินก่อสร้างประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เส้นแนวทางโครงการผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และป่าไม้ นักวิชาการบอกว่า
สมควรอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ และไม่คุ้มค่าการลงทุน

ทางด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ภาคเหนือ และอดีตประธานหอการค้า จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการนี้ค่อนข้างเป็นแผนงานขนาดใหญ่ มูลค่าการลงทุน ในปัจจุบันคงเพิ่มกว่าที่ ทำการศึกษาสำรวจเบื้องต้น หากสามารถผลักดันแนวทางที่หลายภาคส่วนทั้ง ภาคเอกชนในพื้นที่ภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว และท้องถิ่น ที่พยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ก็จะสร้างเส้นทางเศรษฐกิจสายใหม่ขึ้นมา

ในขณะที่นายจำลอง รุ่งเรือง อดีตผู้แทนฯในพื้นที่แม่ฮ่องสอน ระบุว่า ที่ผ่านๆมา ไม่ว่าจะช่วงปี 2556 ที่นายคณิต โชติขุนทด ในนามรองประธานชมรมรถยนต์สามล้อรับจ้างจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีหนังสือถึงผู้อำนวยการแขวงการทางแม่ฮ่องสอน ให้สนับสนุนโครงการ รวมทั้งปัจจุบันประชาชนชาวแม่ฮ่องสอน เห็นควรให้รัฐบาลรื้อฟื้นโครงการนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่ จึงยื่นเรื่องนำเสนอให้ภาครัฐพิจารณาขับเคลื่อนโครงการนี้อีกครั้ง

อดีตผู้ว่าฯจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า แผนพัฒนาพื้นที่แม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะด้านคมนาคม ขนส่ง มีความสำคัญ และจำเป็น ซึ่งแผนงานนี้ ถ้ามองในมิติ ที่จะสนับสนุน สร้างเสริม เศรษฐกิจ ไม่เพียง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ กลุ่มภาคเหนือ ตอนบน 1 ที่จะได้รับประโยชน์ แต่จะส่งผลด้านการค้า การลงทุนระหว่างประเทศด้วย

” การคมนาคม ขนส่ง ถ้าลดต้นทุน ในสภาพเครือข่ายเส้นทางปัจจุบันได้ จะนำพาความเจริญ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไสู่ประชาชนชาวแม่ฮ่องสอนได้อย่างดี ส่วนที่กังวลในเรื่อง ทรัพยากรธรรมชาตินั้น ต้องพูดคุย หารือกัน กับภาคส่วนที่เห็นแย้ง ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน หาข้อสรุปที่ลงตัว ปัจจุบันเทคโนโลยี การก่อสร้างทันสมัย รูปแบบ การลงทุน มีความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องใช้งบรัฐฯ แต่อาจเป็นการร่วมทุนแบบพิเศษได้ ซึ่งคงต้องอยู่ที่การศึกษา ความเหมาะสมของโครงการฯ ก่อนจะตัดสินใจ เลือกดำเนินการต่อไป “

ร่วมแสดงความคิดเห็น