ห้ามจับสัตว์น้ำจืด ฤดูวางไข่ฝ่าฝืนมีโทษปรับ

ห้ามจับสัตว์น้ำจืดฤดูวางไข่ฝ่าฝืนมีโทษปรับหนัก

นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่าฤดูน้ำแดงช่วงระยะเวลาที่น้ำในแม่น้ำลำคลองเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปริมาณน้ำฝนจำนวนมากชะล้างหน้าดินและพัดพาตะกอนธาตุอาหารต่างๆ ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำกลายเป็นสีแดง ซึ่งเป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้สัตว์น้ำมีการผสมพันธุ์ และวางไข่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณ ประชากรสัตว์น้ำให้แก่แหล่งน้ำกรมประมงจึงได้ออกประกาศมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน

โดยกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขการทำประมง เพื่อคุ้มครองปลาน้ำจืดให้มีโอกาสได้เติบโตแพร่ขยายพันธุ์ แบ่งพื้นที่ ระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ตามความเหมาะสมของระบบนิเวศน์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับวิถีประมงพื้นบ้าน โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ 16 พ.ค.นี้ จากการเก็บข้อมูลทางวิชาการพบว่าปริมาณน้ำแต่ละพื้นที่ ยังคงสอดคล้องกับชีววิทยาการสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำจืด ซึ่งส่วนใหญ่มีการวางไข่ช่วง พ.ค.-ก.ย.

โดยอ้างอิงข้อมูลจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ระบุว่าช่วงกลางเดือน พ.ค.จะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ (ฤดูน้ำแดง) กรมประมงจึงเห็นควร ใช้ประกาศกำหนดพื้นที่ ระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง เงื่อนไขการทำการประมง โดยแบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายเป็น 3 ระยะ ตามความเหมาะสมของระบบนิเวศน์แต่ละพื้นที่ กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ในห้วงเวลาและพื้นที่เช่น ช่วง 16 พ.ค.- 15 ส.ค. 2565 พื้นที่ 33 จังหวัด

ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก เป็นต้น โดยเครื่องมือ วิธีการทำการประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ มีดังนี้ เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวงที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร) เป็นต้น

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับตั้งแต่ ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง
กรมประมงได้เน้นย้ำให้สำนักประมง ทุกพื้นที่ เร่งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ให้เข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์น้ำ สร้างจิตสำนึกในการหวงแหนอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ในท้องถิ่น เนื่องจากการกำหนดฤดูปลาวางไข่ในช่วงฤดูน้ำแดง เป็นหนึ่งในมาตรการที่ใช้ควบคุมการทำการประมงเพื่อลดการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ทรัพยากรที่แท้จริงต้องเริ่มที่จิตสำนึกของประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ และการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่รู้จักใช้ ร่วมกันดูแลและรักษาไว้ให้มีอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานของตนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น