โควิด-19 เชียงใหม่ ดีขึ้น อัตราป่วยตายน้อย

โควิด-19 เชียงใหม่ ดีขึ้น อัตราป่วยตายน้อยกว่าโรคไข้เลือดออก

สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ ดีขึ้น พบอัตราการป่วยตายน้อยกว่าโรคไข้เลือดออก ด้าน รองผู้ว่าฯ ย้ำประชาชน เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กระตุ้นเข็มที่ 3 ลดการป่วยรุนแรง เสียชีวิต

บ่ายวันนี้ (17 พ.ค. 65) ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดเรียนแบบปกติ (On Site) เต็มรูปแบบของสถานศึกษา ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเปิดเรียนของโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ ช่วงเช้าที่ผ่านมา พบว่าบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก นักเรียนต่างตื่นเต้น ดีใจ ที่ได้กลับมาเรียนและเจอเพื่อน ๆ ตามปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่เคร่งครัด โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ชื่นชมโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในสถานศึกษา ด้วยระบบการสแกนคิวอาร์โค้ดซื้อของ ซื้ออาหาร เพื่อลดการสัมผัสกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีของโรค และประชาชนสามารถปรับตัวอยู่กับโควิด-19 ได้อย่างรู้เท่าทัน หรือ Living With Covid-19

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จังหวัด ขณะนี้ พบว่าสถานการณ์เบาบางลงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราการพบเชื้อจะลดลง อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.07 ซึ่งน้อยกว่าอัตราการป่วยตายจากโรคไข้เลือดออก ที่มีอัตราการป่วยตายร้อยละ 0.11 แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่ลดลงของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นธรรมชาติของตัวไวรัส และไม่ต่างจากโรคประจำถิ่นโรคอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการเคลื่อนไหวของเด็ก ๆ ซึ่งมีการเปิดการเรียนการสอนของสถานศึกษา

ด้านความพร้อมการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของโรงพยาบาลต่าง ๆ พบว่าทุกโรงพยาบาลมีศักยภาพดูแล รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเต็มที่ ทั้งเครื่องมือ ห้องรักษา รวมถึงระบบการส่งต่อ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนเตียงรักษาผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 เพื่อป้องกันการป่วยรุนแรง เสียชีวิต

และนอกเหนือจากการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แล้ว ในช่วงนี้ยังต้องเฝ้าระวังโรคติดต่อนำโดยแมลงโดยเฉพาะยุงลายด้วย ซึ่งมี 3 โรคหลัก ๆ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา และโรคไวรัสซิกา โดยในปี 2565 จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ทั้งหมด 10 ราย อัตราการป่วยร้อยละ 0.56 ต่อแสนประชากร อยู่ในลำดับที่ 56 ของประเทศ ส่วนโรคชิคุนกุนยา และโรคไวรัสซิกา ยังไม่พบผู้ป่วยในปีนี้

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่/ข่าว-ภาพ
17 พฤษภาคม 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น