วัดยางกวง เชียงใหม่

วันนี้เชียงใหม่นิวส์ ร้อยเรื่องเมืองล้านนา มีโอกาสได้ไปนมัสการ พระครูปลัดธีร์นวัช ญาณสิทฺธิวาที เจ้าอาวาสวัดยางกวง จ.เชียงใหม่ ท่านปัจจุบัน ซึ่งท่านใจดีพาไหว้สักการะ พระพุทธรูป ในวิหาร มีพระนามว่า “พระพุทธศักดิ์สิทธิ์ ” และรูปองค์ “พญามังราย” องค์ใหญ่ในวิหารลายคำ ที่มีความเก่าแก่สวยงาม

ตามประวัติ วัดยางกวง น่าจะเป็นวัดขึ้นมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 จัดเป็นวัดรุ่นแรก ๆ ของเมืองเชียงใหม่ สันนิษฐานได้จากการพบเศียรพระพุทธรูปหล่อสำริดที่จัดเป็นสกุลช่างของล้านนารุ่นแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในศิลปกรรมแบบนี้ขึ้นที่วัดนี้ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า แสนแส้ว วัดนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดแสนแส้ว และยังมีอีกชื่อว่า วัดน่างรั้ว หรือ วัดหน่างรั้ว คำว่า หน่างรั้ว คือ รั้ว หรือแนวกัน ที่ทำให้คนหรือสัตว์เข้ามาติดแล้วออกไปไม่ได้

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ว่า พญามังรายทรงออกแสวงหาชัยภูมิเพื่อสร้างเมืองใหม่ พระองค์เสด็จออกจากเวียงกุมกามและทรงแวะตั้งค่ายพักแรม ณ บริเวณแห่งนี้ โดยให้ทหารและเสนาอำมาตย์สร้างหน่างรั้วขึ้นมา วัดนี้มีหลักฐานปรากฏใน โคลงนิราศหริภุญชัย (พ.ศ. 2060) จนเมื่อเชียงใหม่ถูกพม่ายึดครอง ทำให้วัดอยู่ในสภาพวัดร้าง วัดได้รับการบูรณะอีกครั้งหลังจากที่พระเจ้ากาวิละกลับมาขับไล่พม่าครั้งสุดท้ายออกจากล้านนา ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดยางกวง” เหมือนในเชียงตุง เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าผู้ที่บูรณะมาจากบ้านนายางกวงเชียงตุง ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดยางกวงแห่งนี้กับกลายเป็นวัดร้างอีก

พ.ศ. 2549 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรครองราชย์ครบ 60 ปี พระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร รองเจ้าคณะภาค 7 เห็นว่าวัดยางกวงซึ่งร้างอยู่ ยังมีหลักฐานหลงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ คือ เจดีย์ และพระพุทธรูป จึงเห็นสมควรทำการฟื้นฟูและบูรณะขึ้นใหม่

วัดยางกวง ตั้งเป็นวัดอีกครั้งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557 ปัจจุบันพระครูปลัดธีร์นวัช ญาณสิทฺธิวาที ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส

เพิ่มเติม สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังมีกำแพงวัดเก่าแก่ ตั้งแต่ยุคล้านนาตอนต้น ที่ควรค่าศึกษา แต่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ฝนตกหนักได้เกิดเหตุการณ์กำแพงบริเวณหน้าวัดถล่มลง ที่วัดยางกวง ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเก่าแก่อายุกว่า 700 ปี

อ่านข่าว https://www.chiangmainews.co.th/page/page/archives/1652490/

ร่วมแสดงความคิดเห็น