จ.เชียงราย ประชุมคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ

จ.เชียงราย ประชุมคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ ครั้งที่ 1/2565

วันที่ 18 พ.ค. 65 นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ ครั้งที่ 1/2565 พร้อมทั้งรับฟังการมอบนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำและเครื่องมือการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) โดยมี หัวหน้าหน่วยงานราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและรับฟังการมอบนโยบาย
โดยในที่ประชุมได้พิจารณา 3 เรื่อง ดังนี้ การเลือกรองประธานกรรมการลุ่มน้ำ การเสนอรายชื่อกรรมการลุ่มน้ำเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) การเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนและการพิจารณาพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภัยน้ำท่วมประจำปี ณ โรงแรม เดอะ ริเวอร์รี บาย กะตะธานี เชียงราย ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย

สำหรับจังหวัดเชียงรายได้ดำเนินการตามเป้าหมายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ทั้ง 6 ด้าน ดังนี้ ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค จัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน ครบทุกหมู่บ้านหรือทุกครัวเรือน ชุมชนเมือง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการจัดหา แหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ซึ่งขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน พัฒนาน้ำดื่มให้ได้มาตรฐาน ในราคาที่เหมาะสม และการประหยัดน้ำ โดยลดการใช้น้ำภาคครัวเรือน ภาคบริการ และภาคราชการ ด้านที่ 2 การสร้าง ความมั่นคงของน้ำ ภาคการผลิต มุ่งเน้นการพัฒนาน้ำแหล่งเก็บกักน้ำและระบบส่งน้ำใหม่ให้เต็มศักยภาพ พร้อมทั้งการจัดหาน้ำ ในพื้นที่เกษตรน้ำฝน เพื่อขยายโอกาสจากศักยภาพโครงการขนาดเล็กและ ลดความเสี่ยงในพื้นที่ไม่มีศักยภาพ ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพิ่มประสิทธิภพการระบายน้ำ การจัดระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง การจัดการพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำรวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ในระดับลุ่มน้ำและพื้นที่วิกฤต (Area based) ด้านที่ 4 การจัดการ คุณภาพน้ำ และอนุรักษ์ ทรัพยากรน้ำ พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียต้นทาง การควบคุมปริมาณ การไหลของน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ พร้อมทั้งพื้นฟูแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำ ธรรมชาติ ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และ ป้องกันการพังทลาย ของดิน และด้านที่ 6 การบริหาร จัดการ โดยการจัดตั้งองค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ฯลฯ) ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง ประเทศเชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาและการหาแหล่งเงินทุน พัฒนาระบบฐานข้อมูล ประกอบการตัดสินใจ (คลังน้ำชาติ) สนับสนุนองค์กรลุ่มน้ำ สนับสนุนการแลกเปลี่ยน ข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน

จากนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ให้เร่งดำเนินการ 4 เรื่อง ดังนี้ การจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำให้สอดคล้องเชื่อมโยงการบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ การบูรณาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อการแก้ไขให้ครบทุกพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกมิติ

การจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วมและการจัดทำระบบเตือนภัยน้ำท่วมให้มีความเหมาะสม สอดคล้องตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การให้ความเห็นแผนงานและโครงการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำเป้าหมาย แผนแม่บท รวมถึงการบริหารทรัพยากรน้ำทั้ง 6 ด้าน และแผนพัฒนาจังหวัด โดยใช้กลไกลระบบบูรณาการแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ และการส่งเสริมและรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้ทราบอย่างต่อเนื่องโดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนให้เกิดประสิทธิผลต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น