โรคความดันโลหิตสูง ภัยร้าย ฆาตรกรเงียบ

แพทย์ทหารห่วงใย “โรคความดันโลหิตสูง ภัยร้าย ฆาตรกรเงียบ”

โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชากรทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูง 7.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เกือบ 1 พันล้านคนทั่วโลก ถือเป็น “ฆาตรกรเงียบ” เนื่องจากโรคนี้ไม่มีสัญญาณเตือน หรืออาการแสดงที่ชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยไม่ตระหนักถึงอันตรายของโรค หากปล่อยให้ตนเองมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดแดงในตาเสื่อม และไตวาย ส่งผลให้เกิดความพิการ และเสียชีวิตได้

สำหรับประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยในปี 2562-2563 พบว่าประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 13 ล้านคน และในจำนวนนี้มีมากถึง 7 ล้านคน ไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง หากผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการดูแลรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น อาจแสดงอาการต่างๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ ใจสั่น ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย วิงเวียน สับสน หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ ทั้งนี้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พร้อมติดตามวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดียิ่งขึ้น และจะลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เป็นอย่างดี

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีการรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง (เช่น ปลาร้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่มเกลือแร่ เป็นต้น) ไม่รับประทานผักและผลไม้ ไม่ออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ประกอบกับอายุที่มากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมและปัจจัยเหล่านี้ จะส่งผลให้มีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น การป้องกันควบคุมโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่

  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ (ไม่หวานจัด)
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละ 30 นาที
  3. ทำจิตใจให้สงบเพื่อจัดการความเครียด
  4. ไม่สูบบุหรี่
  5. ไม่ดื่มสุรา

สำหรับวิธีการวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง คือ

  1. ผู้ถูกวัด ควรมีการเตรียมตัวก่อนการวัด ไม่ดื่มชา-กาแฟ และไม่สูบบุหรี่ ก่อนทำการวัด 30 นาที
  2. นั่งบนเก้าอี้หลังพิงพนัก และหลังตรง
  3. งดการพูดคุยระหว่างวัดความดันโลหิต
  4. วางแขนไว้บนโต๊ะให้ปลอกแขน (Arm Cuff) อยู่ระดับเดียวกับหัวใจ
  5. ไม่เกร็งแขน และไม่กำมือขณะวัดความดันโลหิต
  6. เท้าทั้งสองวางราบกับพื้นไม่ไขว่ห้าง

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหารและครอบครัว ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 รวมทั้งพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อโรคภัยดังกล่าว โดยขอแนะนำประชาชน ด้วยการลดรับประทานอาหารที่มีโซเดิมสูง เช่น ปลาร้า อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป เครื่องดื่มเกลือแร่ เป็นต้น ควรเพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ (รสหวานน้อย) เช่น พืชตระกูลถั่ว ฝรั่ง กล้วย ส้ม แตงโม เป็นต้น

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเริ่มต้นด้วยกิจกรรมเบาๆ ไปจนถึงกิจกรรมปานกลาง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ลดละเลิกการดื่มแอลกอฮอล์ ลดละเลิกการสูบบุหรี่ และที่สำคัญควรหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วย ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
19 พฤษภาคม 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น