สร้างมิติใหม่ เชื่อมสัมพันธ์นานาชาติ

“สงขลานครินทร์” สร้างมิติใหม่เชื่อมสัมพันธ์นานาชาติ ใช้ “SciVal” หาข้อมูลจับคู่พันธมิตรทางวิชาการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความต่อเนื่องในการสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรคู่ความร่วมมือระดับนานาชาติในช่วงการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ในช่วงก่อนการแพร่ระบาด งานหลักด้านกิจการนานาชาติของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือการสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรหลักในต่างประเทศซึ่งต้องมีการเดินทางไปมาระหว่างกัน ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดเรายังคงมีการสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันเหล่านั้น แต่ปรับเปลี่ยนวิธีการโดยนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาใช้ในการสื่อสารและสร้างกิจกรรมเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง รวมทั้งใช้โปรแกรมวิเคราะห์ความเหมาะสมและจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นในการติดต่อเชื่อมความสัมพันธ์กับสถาบันใหม่ๆ และเครือข่ายต่างๆ

โดยทั่วไปมหาวิทยาลัยจะเน้นภารกิจหลักไปที่การเรียนการสอน การวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรม หากจะนำมหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นเลิศและเป็นที่รู้จักกันในระดับสากล จะต้องนำเอาด้านกิจการนานาชาติมาช่วยขับเคลื่อนร่วมกับการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลในทุกภารกิจ เช่น ในการพิจารณาเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันทางวิชาการในต่างประเทศโดยเฉพาะด้านการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยได้ใช้ “SciVal” ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อการบริหารจัดการงานวิจัยเป็นหลัก เป็นระบบที่ใช้วัด ตรวจสอบ และติดตามสมรรถนะงานวิจัยขององค์กรโดยใช้ข้อมูลผลงานวิจัยตีพิมพ์ และการอ้างอิงจากบทความวิจัยตีพิมพ์ ในฐานข้อมูล Scopus เพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมของพันธมิตรใหม่ที่เราจะไปสานความสัมพันธ์ด้วยในระดับนานาชาติ เช่น งานวิจัยอะไรที่มีความโดดเด่น เป็นผลงานของนักวิจัยท่านไหนจากสถาบันใด เพื่อหาแนวทางในการเชื่อมโยงกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในอนาคตต่อไป

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังมีการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและบุคลากรสู่ความเป็นนานาชาติ ด้วยโครงการ PSU Open Mobility ซึ่งจะมุ่งพัฒนาให้บุคลากรทุกกลุ่มสามารถเรียนคอร์สออนไลน์ผ่านระบบ MOOC ที่เป็นของนานาชาติได้ รวมทั้งพยายามหาการเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตรของมหาวิทยาลัยกับสถาบันพันธมิตรในต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่กว่า 20 หลักสูตร

รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า โดยทั่วไปมักจะมองว่าความเป็นนานาชาติจะเกิดเมื่อมีการเดินทางออกนอกประเทศ แต่โดยข้อจำกัดหลายประการคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงไม่ได้เดินทางออกไปมีประสบการณ์ในต่างประเทศ ซึ่งปัญหานี้สามารถทดแทนได้โดยการนำความเป็นนานาชาติเข้าสู่รั้วสงขลานครินทร์ หรือ Internationalization At Home (IAH) เช่น การเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อเข้ามาสอนในมหาวิทยาลัยในรูปแบบออนไลน์ มีการจัดสัมมนาออนไลน์แก่นักศึกษา โดยเชิญอาจารย์และนักวิจัยชาวต่างประเทศมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ซึ่งในปี 2564 มีอาจารย์ต่างชาติเข้าร่วมจำนวนกว่า 100 ท่าน ซึ่งหลังจากนี้จะเกิดความสัมพันธ์ทางวิชาการที่ต่อเนื่องไปสู่การสร้างกิจกรรมทางวิชาการเช่นการทำวิจัยร่วมกันในอนาคต รวมทั้งมีการสร้างกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อให้ตอบสนองต่อความเป็นนานาชาติ เช่น กิจกรรมที่มุ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals หรือ SDGs เช่นการรักษาสภาพแวดล้อมของทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น

“ในอนาคตดิจิทัลกับกิจการนานาชาติต้องเดินคู่กันไป หลักสูตรในอนาคตต้องมีการเรียนออนไลน์มากขึ้น พฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนไปเพราะลดกิจกรรมที่เป็นการพบปะกัน แต่เราจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ความเชื่อมโยงกับพันธมิตรทางวิชาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ การสื่อสารเพื่อความเป็นนานาชาติจึงเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลมากขึ้น จะต้องมีการรองรับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น และจะเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมาก ซึ่งข้อดีคือ เราสามารถจัดกิจกรรมหลายอย่างได้บ่อยขึ้นเพราะไม่มีการเดินทางมาเป็นข้อจำกัด” รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น