คุณกำลังเป็น โรคกลัวความมืด หรือเปล่า?

ถึงกลางคืนทีไร เป็นต้องรู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจทุกที ยิ่งถ้าจะต้องอยู่บ้านคนเดียวตอนกลางคืน ต้องเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียวในยามค่ำมืด ก็ยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัย เกิดอาการหวาดกลัวจนตื่นตระหนก ถ้าคุณรู้สึกว่าความมืดเป็นศัตรูที่น่ากลัวล่ะก็ คุณอาจกำลังมีอาการของ โรคกลัวความมืด ความกลัวที่ทำให้คุณรู้สึกไม่ปลอดภัยในตอนกลางคืนหรือที่ที่มีแสงสว่างน้อย วันนี้เชียงใหม่นิวส์ ขอพาทุกท่านมารู้จักกับโรคกลัวความมืดให้มากขึ้นกันค่ะ

โรคกลัวความมืด คืออะไร

ความมืดมิด ฝันร้ายในวัยเยาว์ของเราเกือบทุกคน ถึงเวลากลางคืนทีไร เป็นได้จินตนาการว่าจะมีสิ่งไม่ดี อย่างปีศาจ สัตว์ประหลาด หรือผีออกมาอาละวาด แต่นั่นก็เป็นเพียงความกลัวโดยทั่วไปของเด็ก ๆ เนื่องจากอยู่ในช่วงที่วัยวุฒิและคุณวุฒิ ตลอดจนประสบการณ์ในการใช้ชีวิตยังมีไม่มากพอ จึงเกิดความกลัวกับสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย

โรคกลัวความมืด (Achluophobia หรือบางครั้งอาจเรียกว่า Nyctophobia) ที่เรากำลังจะพูดถึงกันนี้ กลับไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงช่วงชีวิตเมื่อตอนเป็นเด็ก เพราะแม้เวลาจะผ่านไปนานจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังคงมีอาการหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อถึงเวลากลางคืน หรือเมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีแสงสว่างเข้าถึงน้อย ซึ่งลักษณะอาการเช่นนี้ อาจส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับในตอนกลางคืน จนกระทั่งเป็นการรบกวนการพักผ่อนของร่างกาย ซึ่งจะสามารถมีผลต่ออาการทางสุขภาพอย่างเช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่สดชื่น หรือเสี่ยงที่จะมีอาการหลับในหรือง่วงนอนในช่วงกลางวัน และอาจเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรควิตกกังวลซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ทำไมถึงเป็น โรคกลัวความมืด

เรื่องราวของความกลัวนั้น เป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจ จึงเป็นการยากที่จะกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงถึงสาเหตุที่แน่ชัด เนื่องจากค่อนข้างมีความซับซ้อน อย่างไรก็ตาม โรคกลัวความมืดก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งอาการในกลุ่มของโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความกลัว ซึ่งโรคเหล่านี้มักมีที่มาจากประสบการณ์อันเลวร้ายที่ไม่น่าจดจำในอดีต หรืออาจมาจากพันธุกรรม หรือสารเคมีในสมองมีการทำงานผิดปกติ ในส่วนของอาการกลัวความมืด อาจรวมถึงความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัย หรือเกิดจากความเชื่อที่ได้รับการส่งต่อกันมา

อาการของโรคกลัวความมืด

อาการของโรคกลัวความมืดนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลัวความมืด จะมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีความรู้สึกวิตกกังวลเมื่อต้องอยู่ในที่มืด
  • ต้องการแสงสว่างขณะที่นอนหลับ หรือเปิดไฟให้สว่างตลอดเวลาของการนอน
  • รู้สึกกระอักกระอ่วนใจหากจะต้องออกไปข้างนอกในตอนกลางคืน
  • จะมีการวิ่งหนีอย่างรวดเร็วทันที หากต้องอยู่ในห้องที่มืด ไร้แสงสว่าง
  • จะมีการบังคับให้ตัวเองอยู่แต่ในห้องตอนกลางคืน ไม่ต้องการที่จะออกไปไหนมาไหน
  • รู้สึกไม่พอใจ โกรธ หากมีใครพยายามกลั่นแกล้ง หรือพาออกไปในที่มืด หรือในตอนกลางคืน
  • มีอาการทางสุขภาพเช่น เหงื่อออกมากผิดปกติ ตัวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว อึดอัด ไม่สบายใจ ปวดศีรษะ หัวใจถี่รัว หายใจไม่สะดวก หัวใจเต้นเร็ว รวมไปถึงอาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย

โรคกลัวความมืดรักษาได้หรือไม่

เนื่องจากความกลัว เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากสภาพจิตใจ ดังนั้น การริเริ่มเปลี่ยนความเชื่อในใจ ค่อย ๆ ปล่อยวางความกลัวลง สามารถช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ทีละนิด ๆ จนกระทั่งมีอาการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการทางสุขภาพจิตใจ ผู้ป่วยควรไปพบคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้ารับการบำบัด โดยคุณหมอหรือจิตแพทย์ อาจมีการแนะนำเกี่ยวกับการรักษา ดังนี้

  • เริ่มสัมผัสกับความมืดทีละนิด และเพิ่มปริมาณการอยู่กับความมืดให้มากขึ้น วิธีการดังกล่าวเรียกว่า การลดความอ่อนไหวของผู้ป่วย (desensitization)
  • ใช้การบำบัดด้วยการพูดคุย ทั้งพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ พูดคุยกับคนในครอบครัว หรือบำบัดด้วยการพูดคุยแบบกลุ่ม
  • เรียนรู้การใช้เทคนิคเพื่อช่วยในการผ่อนคลายหากต้องอยู่ในสภาวะของความมืด เช่น การสูดหายใจเข้าลึก ๆ การกำหนดลมหายใจ
  • คุณหมอหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจมีการสั่งยาให้กับผู้ป่วย โดยจะเป็นยาในกลุ่มยารักษาอาการวิตกกังวล ยากล่อมประสาท

hellokhunmor- Khongrit Somchai

ร่วมแสดงความคิดเห็น