เข้าค่ายพัฒนาทักษะบนดอยแม่สลอง

มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา พานักศึกษาทุนครูรักษ์ถิ่น เข้าค่ายพัฒนาทักษะบนดอยแม่สลอง

เมื่อวันที่ 18-20 พ.ค. 65 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เอกปฐมวัย จำนวน 30 คน ได้มาร่วมกระบวนการเสริมสร้างประสบการณ์ พัฒนาทักษะชีวิต (enrichment) ณ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) บ้านป่าคาสุขใจ ตำบลแม่สลองนอก อ.แม่สลอง จ.เชียงราย โดยทั้งหมดเป็นนักเรียนทุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในภาคเหนือตอนบน ในปี 2563 ที่มีทั้งหมด 252 คน ที่กระจายกันอยู่ใน 4 สถาบันการศึกษา

นักเรียนทุนทั้ง 30 คน ร่วมกันทำกิจกรรมภายใต้แนวคิด “รับรู้ เข้าใจ ปรับใช้ สร้างสรรค์ ทันโลก” เรียนรู้เป้าหมายชีวิตของตนเอง รู้จักสังคมที่มีความหลากหลาย หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันเปิดใจปรับทุกข์สุข เรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเอง ฝึกคิดการออกแบบกิจกรรมจิตอาสา เข้าฐานการเรียนรู้ทำความรู้จักสภาพแวดล้อมหมู่บ้าน และวิเคราะห์ชุมชน

นางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือครูแดง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน และเคยเป็นครูดอยที่ทำงานพัฒนาพื้นที่สูงมายาวนาน ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้นักเรียนทุนชาติพันธุ์ว่า “ในการสอนเด็กปฐมวัย ในการสอนเรื่องภาษาเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องสอนเด็กให้เป็นและเข้าใจ ต้องศึกษาภาษาเพราะชุมชนมีภาษาที่หลากหลาย หากเด็กๆ ไม่สามารถเข้าใจภาษาก็ไม่สามารถจะเรียนรู้วิชาอื่นๆ ให้เข้าใจได้ เป็นลักษณะเฉพาะของเด็กบนดอย จึงต้องเรียนรู้ศึกษาและบันทึกวิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วย ต้องรู้จักบุคคลและความสัมพันธ์ในชุมชนเพื่อที่จะทำให้การดูแลเด็กๆ ได้ทั้งด้านจิตใจ อารมณ์ และสุขภาพร่างกายได้อย่างเต็มที่” ครูแดง กล่าว

ครูแดงได้ย้ำถึงหัวใจในการเป็นครูดอยหรือครูชาติพันธุ์ว่า การสอน การดูแลปลูกฝังให้เด็กๆ ต้องพัฒนา ทั้งกาย ใจ และสติปัญญาสร้างประโยชน์ให้สังคม เพื่อความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลระหว่างมนุษย์ และไม่ทำลายธรรมชาติ

ผู้รับทุน กสศ.รุ่นนี้นับเป็นรุ่นแรก คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 4 มหาวิทยาลัย ที่ได้รับดูแลนักเรียนทุนจากหลายชาติพันธุ์ต่างพื้นที่ มีทั้งลาหู่ดำ ลาหู่ขาว ม้ง กะเหรี่ยง คนเมือง ไทยใหญ่ อาข่า และคนเมือง มีความเป็นพหุวัฒนธรรมในกลุ่มนักเรียนทุนที่มาอยู่รวมกันจำนวน 30 ห้อง เพิ่มชั้นเรียนของเอกปฐมวัยของคณะอีก 1 ห้องเรียนในรุ่นนี้

“การคัดเลือกนักศึกษาของกองทุน จะเริ่มมองหาจากพื้นที่ที่ขาดแคลนครู จึงเปิดรับสมัครคนในชุมชนเพื่อมาทำหน้าที่ การเลือกนักเรียนทุนปฐมวัย จะเลือกคนที่มีจิตใจรักษ์ท้องถิ่น มีลักษณะนิสัยที่จะทำงานดูแลเด็ก ทำงานประสานกับโรงเรียน และชุมชนได้ จึงมีการสัมภาษณ์สอบถามจากหลายฝ่าย ทั้งผู้บริหารโรงเรียน ผู้ใหญ่บ้านและคนในชุมชน กสศ.ค่อนข้างละเอียดหลายขั้นตอนมากในการเสาะหาคัดเลือกผู้รับทุน ซึ่งรุ่นนี้มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ได้ดูแล 30 คน” อ.จันทรา แซ่ลิ่ว อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ กล่าว

อาจารย์ผู้ดูแลนักเรียนทุนครูรักษ์ถิ่น กล่าวว่า นักเรียนทุนนอกจากเรียนตามหลักสูตรสอนเด็กปฐมวัยแล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังได้เสริมกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนทุนครูรักษ์ถิ่น ในการบ่มเพาะให้พวกเขาสามารถนำไปทำประโยชน์ได้จริงในชุมชน

ครูรักษ์ถิ่น รุ่นบุกเบิกปีนี้ กำลังศึกษาอยู่ในปีการศึกษาที่ 3 ในปีหน้าเขาต้องลงไปฝึกสอนที่ชุมชน และเมื่อสอบในประกอบวิชาชีพครู และแบบทดสอบภาษาอังกฤษให้ผ่าน เขาก็จะได้รับการบรรจุราชการครูไปสอนในตำบลที่จัดวางตำแหน่งรอพวกเขาไว้แล้ว โดยอาจารย์ที่ดูแลยังติดตามดูแล และเงื่อนไขทุนจะผูกพันเขาไปอีก 6 ปี ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู

ร่วมแสดงความคิดเห็น