สสจ.เชียงใหม่ แนะสังเกต เห็ดพิษ

สสจ.เชียงใหม่ แนะสังเกต เห็ดพิษ

ทางนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ในหลายพื้นที่ มีฝนตกอย่างต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้เห็ดหลายชนิดจะเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งเห็ดป่า มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้ และเห็ดพิษที่ไม่สามารถรับประทานได้ โดยทั่วไปประชาชนมักจะเก็บเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเห็ดที่ขึ้นใกล้ที่พักอาศัย หรือซื้อมารับประทานซึ่งอาจเป็นเห็ดพิษ เนื่องจากเห็ดพิษบางชนิดมีลักษณะคล้ายกับเห็ดที่รับประทานได้ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระยะดอกตูม อาจทำให้เกิดความสับสนและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

จากสถิติข้อมูลงานระบาดวิทยา กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สามปีย้อนหลัง พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษในจังหวัดเชียงใหม่เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุ
ทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่าเห็ดระโงกหินเห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน ที่สามารถกินได้แต่แตกต่างกัน คือ
เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน และเมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน นอกจากนี้ ยังมีเห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่รับประทานได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้มเมื่อผ่าดอกเห็ดดู มีพิษต่อระบบทางเดินอาหารและกล้ามเนื้อ และทำให้ตับไตวายซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิต รวมถึงเห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า ซึ่งยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า สำหรับอาการที่แสดงหลังจากได้รับสารพิษ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ท้องร่วง ความรุนแรงขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และปริมาณในการรับประทาน

ทั้งนี้ ขอแนะนำวิธีการสังเกตเห็ดพิษด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน คือ หากเห็ดชนิดนั้นขึ้นอยู่ใกล้มูลสัตว์
มีสีน้ำตาลหรือสีสันฉูดฉาด หมวกเห็ดมีปุ่มปม มีวงแหวนใต้หมวก หรือเมื่อดอกแก่ มีกลิ่นเอียน หรือกลิ่นค่อนข้างแรง ให้พึงระวังว่าจะเป็นเห็ดพิษ สารพิษในเห็ดโดยส่วนใหญ่จะสลายตัวด้วยความร้อน ดังนั้นจึงควรปรุงให้สุกไม่ควรกินเห็ดดิบโดยเด็ดขาด และหากได้รับสารพิษจากเห็ด การปฐมพยาบาลเบื้องต้น นอกจากล้วงคอ เพื่อให้อาเจียนแล้ว การดื่มน้ำคั้นจากใบรางจืดก็สามารถล้างพิษเห็ดได้ในเบื้องต้น และรีบไปพบแพทย์ทันที ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หลังจากบริโภคเห็ดป่าโดยเด็ดขาด เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053211048 ต่อ 110

ร่วมแสดงความคิดเห็น