เกษตรกรระทมปุ๋ยแพง เดือดร้อนซ้ำซาก

เกษตรกรระทมปุ๋ยแพง ผลผลิตลุ้นราคาทุกฤดูกาล เผชิญภัยน้ำท่วมเดือดร้อนซ้ำซาก

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และในฐานะปราชญ์ล้านนาภาคการเกษตร กล่าวว่า สถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมี สูตรต่างๆที่ขยับราคาต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ชาวไร่ ชาวสวนที่พึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมี เพราะถือว่าแพงสุดๆ ในรอบหลายปี หากทำการเกษตรแบบเดิม ไม่มีทางรอด ต้องแบกรับต้นทุนสูง ในกลุ่มชาวนากว่า 4.5 ล้านครัวเรือนจะเป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เกือบทุกภูมิภาค ต้องหาทางปรับตัว ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และบรรดาเคมีภัณฑ์ ในแปลงปลูก ต้นทุนผลิตของชาวนา ไม่ควรเกินไร่ละ 3 พัน และทางออกของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจากการระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายเกษตร หลายๆ พื้นที่ คือเรียกร้องให้รัฐฯ จัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี ด้วยศักยภาพของบ้านเรา มีแนวทางดำเนินการได้

“สิ่งที่สภาเกษตรกรแห่งชาติอยากเรียกร้องจากรัฐบาล คือ ปุ๋ยเคมีเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทย เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรมแต่กลับไม่มีโรงงานปุ๋ย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในข้อเท็จจริงแล้วไทยมีปุ๋ยไนโตรเจน อันเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมมาเป็นปุ๋ยยูเรีย มีแหล่งแร่โพแทชขนาดใหญ่ ที่อีสาน มีบางเหมืองเปิดแล้วที่ชัยภูมิ จะขาดเพียงฟอสแฟส ซึ่งสามารถนำเข้าจากจีนที่เป็นแหล่งใหญ่ได้ อาจจะสร้างความร่วมมือร่วมทุนทำโรงงานปุ๋ยเคมีในไทย ได้ อย่าลืมว่า ตัวแปรคือสงครามูเครน-รัสเซีย มีผลในระยะยาวนาน และไม่แน่ใจว่าควาามขัดแย้งนี้จะลงเอยอย่างไร”

ทั้งนี้จากการสอบถาม เกษตรกร ชาวสวนในพื้นที่ ลำพูนและเชียงใหม่ พบว่า ต้นทุนผลิตที่เพิ่มสูงจากราคาปุ๋ยเคมี หลายๆสูตร จ่อทะลุกระสอบละ 2 พันบาท เช่น แม่ปุ๋ยสูตร 18-46-0 ปุ๋ยยูเรียสูตร 40-0-0 บางสูตรราคาอยู่ที่ 1,800-1,950 บาท ทำให้เกษตรกรรายย่อยไม่มีเงินซื้อปุ๋ยใส่ต้องปล่อยพื้นที่แปลงปลูกไปตามยถากรรม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และ โชคดีที่ช่วงนี้มีฝนช่วย แต่ถ้าฝนหนัก น้ำท่วมขัง พื้นที่แปลงเกษตรก็รับผลกระทบหนักอีก

ด้านหน่วยงานที่กำกับดูแลราคาเคมีภัณฑ์ และปุ๋ย ในพื้นที่ เชียงใหม่ และลำพูน ระบุว่า เจ้าหน้าที่เกษตร มีการลงพื้นที สำรวจความต้องการ ของเกษตรกร หาทางแก้ไข ในเรื่องปุ๋ยเคมี ซึ่งยอมรับว่า บางสูตร ที่เกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวนใช้นั้น มีการปรับราคา บางสูตรจากกระสอบละ 7-8 ร้อยบาท แทบจะทะลุพันแล้ว เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจาก แม่ปุ๋ยนั้นต้องนำเข้า อีกทั้ง ร้านค้าส่วนใหญ่มีปุ๋ยไม่ครบทุกสูตร เนื่องจากบริษัทจำกัดการสั่งซื้อ

“ภาครัฐฯ พยายาม ส่งเสริมภาคการผลิต แปลงปลูก ไม้ผล พืชไร่ ตั้งเป้าใช้เคมีให้น้อยที่สุดลดต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกัน ราคาผลผลิตที่ต้องลุ้น วัดดวงกันทุกฤดูกาลนั้น ก็จะมี รูปแบบพัฒนาผลผลิต สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ ด้วยเทคนิคการแปรรูป การเกษตรปราณีต ที่เน้นเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เพราะราคาจะดีกว่า ผลผลิตทั่วๆไปตามฤดูกาล “

ทีมข่าว สอบถามชาวสวนชาวไร่ ในพื้นที่ บ้านแม่แฝก ,เจดีย์แม่ครัว อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีการเกษตรที่หลากหลายแบบทั้งทำนา ทำสวน เกษตรผสมผสาน ไม้ดอก ไม้ผล แหล่งใหญ่ของเชียงใหม่ ระบุว่า ต้องปรับวิถีการทำเกษตร ลดต้นทุน เพราะปุ๋ยเคมีแพง หันไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผสม ถ้าเคมีภัณฑ์ก็จะปรับมาใช้สูตรบำรุง น้ำยา ที่เจ้าหน้าที่เกษตรแนะนำเทคนิค เพื่อลดการพึ่งพาเคมีภัณฑ์ กำจัดศัตรูพืช

“ยอมรับว่า ปุ๋ยแพงต่อเนื่อง แบบนี้ เป็นทุกข์มาก เพราะไม่เคยประสบปัญหากับต้นทุน ที่ผันแปรหนักแบบนี้ ยิ่งชาวนาด้วยแล้ว ราคาข้าวต่อไร่ แทบไม่คุ้มกับราคาปุ๋ย ค่าแรง และเคมีภัณฑ์ รวมถึง ต้นทุนอื่นๆในการทำนา ปลูกพืช ปลูกผัก ทำสวนเกษตร ประกอบกับช่วงนี้หลายพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมอีกเดือดร้อนหนักกว่าเดิม “

ร่วมแสดงความคิดเห็น