มช. จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษากิจกรรมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ รองรับธุรกิจ MICE และการท่องเที่ยว

ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ
ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ

มช. จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษากิจกรรมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ รองรับธุรกิจ MICE และการท่องเที่ยว เผยแนวทางการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน ชี้ควรนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการนำเสนอข้อมูลของการค้นหาเส้นทางการท่องเที่ยว เผยเตรียมการจัดกิจกรรมทดสอบเส้นทางในการท่องเที่ยวด้วยรถสาธารณะ 3 เส้นทาง
อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวบรรยายในหัวข้อ การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับแหล่งกิจกรรมจัดการประชุมสัมมนา และนิทรรศการ และการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ณ ห้องประชุมอินทนิล ในการประชุมนำเสนอผลการศึกษากิจกรรมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะรองรับธุรกิจ MICE และการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการระบบโครงสร้างเมืองรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ชั้น 1 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การจัดวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะรองรับ MICE และการท่องเที่ยวที่เชียงใหม่ เป็น Hub สำหรับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงที่สำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ FIT (Free Individual Tourist) ที่พึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางสูงมาก สำหรับแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวทางภาคเหนือนั้นจะเป็นการพัฒนาเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และกระจายนักท่องเที่ยวจีนจากเชียงใหม่สู่จังหวัดใกล้เคียงโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะประจำทางในการเดินทาง ซึ่งต้องมีการวางแผนการเดินรถ แผนการตลาดและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่อง ระบบตั๋วร่วมซึ่งออกแบบตั๋วโดยสาร 1 วันไม่จำกัดเที่ยว การดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาระบบฯ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เส้นทางสาธารณะผ่านช่องทางข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์ในประเทศจีน เป็นต้น นอกจากกนี้ควรมีการใช้ร้านอาหารในการให้บริการแนะนำหรือติดต่อสถานที่ท่องเที่ยวทางภาคเหนือให้กับนักท่องเที่ยว และยังต้องมีการพัฒนาระบบอัจฉริยะ อย่างเช่น แผนที่อัจฉริยะ Mobile Application ซึ่งเป็นบริการพัฒนาระบบแอพลิเคชั่นต่างๆ บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อนำเสนอข้อมูลของการค้นหาเส้นทางการท่องเที่ยว

อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมทดสอบเส้นทางในการท่องเที่ยวด้วยรถสาธารณะ โดยกิจกรรมเส้นทางแรกจะท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ด้วยรถแดงสาย R1 โดยเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในเขตเมืองเก่าของเชียงใหม่ กิจกรรมที่ 2 นั้นจะเป็นการท่องเที่ยวในจังหวัดลำปาง เดินทางด้วยรถ Green Bus พาเที่ยวชมวัดพระธาตุลำปางหลวง นั่งรถม้า เดินชมกาดกองต้า และศูนย์ฝึกลูกช้างฯ เป็นต้น ส่วนกิจกรรมที่ 3 จะเป็นการท่องเที่ยวในจังหวัดลำพูนด้วยรถคิวเชียงใหม่-ลำพูน โดยพานำชมวัฒนธรรมลำไย และวัฒนธรรมเมืองเก่าของจังหวัดลำพูน และกิจกรรมสุดท้ายท่องเที่ยวในอำเภอแม่สะเรียงด้วยรถเปรมประชาสายเชียงใหม่-แม่สะเรียง จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย (ล่องเรือแคหนู) เดินตลาดเช้า กับเที่ยวชมเมืองศูนย์กลางค้าโบราณที่ดำรงความเป็นเมืองเก่าวัฒนธรรมริมน้ำ

ร่วมแสดงความคิดเห็น