แนะผู้ประกอบการ OTOP ควรทำการวางแผนธุรกิจและการตลาดเพื่อพัฒนาสินค้า ภายใต้แนวทาง “ขายได้ ขายดี ขายอย่างไร”

พาริดา สาจันเวช
พาริดา สาจันเวช

แนะผู้ประกอบการ OTOP ควรทำการวางแผนธุรกิจและการตลาดเพื่อพัฒนาสินค้า ภายใต้แนวทาง “ขายได้ ขายดี ขายอย่างไร” เตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจการค้า ย้ำผู้ประกอบการต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเองและผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานระดับสากล เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
นางสาวพาริดา สาจันเวช นักศึกษาฝึกประสบการณ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นางสาวพัดชา เอลาฬุกานนท์ วิทยากรอิสระ ได้บรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “ขายได้ ขายดี ขายอย่างไร” ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการเสริมสร้างสินค้า OTOP เรื่อง “สร้างคุณภาพสินค้า OTOP เพื่อรายได้ที่ยั่งยืน” ครั้งที่ 2 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ณ โรงแรม ดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่
โดยนางสาวพัดชา เอลาฬุกานนท์ วิทยากรอิสระ กล่าวว่า คุณภาพสินค้ากับการวางแผนธุรกิจและการตลาดเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP “ขายได้ ขายดี ขายอย่างไร” การอื่นต้องเริ่มจากการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อที่จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จด้านการขายก่อน คือ ภาพธุรกิจโดยรวมซึ่งประกอบด้วย 1.การตลาด 2.การผลิต และ 3. เรื่องบัญชี-การเงิน ถ้า 3 สิ่งนี้ผู้ประกอบการสามารถบริหารได้ดีก็จะนำไปสู่ความสำเร็จเบื้องต้นของการขาย ซึ่งคำว่า “การตลาด” คือ การตอบสนองความต้องการของลูกค้า ลูกค้าต้องการสินค้าแบบไหนผู้ประกอบการต้องผลิตสินค้าที่สนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด และผู้ประกอบการต้องมีความสังเกตุว่าลูกค้าวัยไหนที่บริโภคสินค้า โดยสังเกตุต่ออีกว่าใครเป็นผู้บริโภค และใครเป็นผู้ตัดสินใจในการซื้อสินค้า ผู้บริโภคซื้อสินค้าไปทำอะไร ทำไมผู้บริโภคถึงเลือกซื้อสินค้า และช่วงเวลาไหนที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้า ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้จากที่ไหน แล้วสุดท้ายผู้บริโภคจะซื้อสินค้าได้อย่างไร หากผู้ประกอบการสามารถรู้ข้อมูลของลูกค้าได้ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผู้ประกอบการก็จะสามารถผลิตสินค้าออกมาได้และทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้อีกด้วย กล่าวคือ “การผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคนั่นเอง” ดังนั้นหลักการตลาดของผู้ประกอบการคือการใส่ใจในรายละเอียดของผู้บริโภค เพื่อนำมาปรับให้เหมาะสมแก่ผู้บริโภคมากที่สุด
นางสาวพัดชา กล่าวต่อว่า ส่วน “การผลิต” คือการที่ผู้ประกอบการเลือกวัตถุดิบมาทำสินค้าโดยการพัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพ และผู้ประกอบการจะต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อที่จะนำมาดัดแปลงสินค้าให้มีความน่าสนใจ ให้ดึงดูดลูกค้าผู้ประกอบการควรศึกษาแนวทางใหม่ๆ เพื่อนำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ หรืออาจจะเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องเพิ่มต้นทุน แต่เป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยแนวความคิดแปลกใหม่ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจในผลิตภัณฑ์นั้นๆ และควรทำการสร้างจุดเด่นให้ผลิตภัณณฑ์มีความน่าเชื่อถือ กล่าวคือ “ต้องทำให้ลูกค้าเชื่อว่าสินค้าเราดีและมีคุณภาพ” ซึ่งในเรื่องการผลิตทั้งหมดนี้กล่าวมาข้างต้นนั้น เรียกว่า “กลยุทธ์ทางการตลาด”
วิทยากรอิสระ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อสุดท้าย “บัญชี” ก่อนอื่นต้องแยกรายรับ-รายจ่าย และต้องจดรายละเอียดทั้งหมดเพราะเป็นการรับรู้ต้นทุนการผลิต การจดรายละเอียดทั้งหมดนี้เป็นการวางแผนการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการจะรู้รายละเอียดต่างๆ อาทิ ข้อมูล รู้ต้นทุนการผลิต และนำมาปรับแก้หรือเปลี่ยนแปลงต้นทุนอาจจะสูงขึ้นหรือต่ำลง เป็นต้น เมื่อมีข้อมูลรายละเอียดไว้เรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถวางแผนอนาคตต่อไปได้
“ทั้งนี้สินค้า OTOP เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป การพัฒนาคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานจึงต้องมีการวางแผน เพราะต้องอาศัยการร่วมมือของผู้ประกอบการและอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการสร้างคุณภาพต้องมาจากผู้ประกอบการเป็นหลัก การจัดนิทรรศกาลและการบรรยายในส่วนนี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีองค์ความรู้ของหลักการตลาด การผลิต และบัญชีรายรับรายจ่าย ทำให้เข้าใจถึงหลักการเหล่านี้มากขึ้น และเพื่อส่งเสริมให้สินค้า OTOP มีคุณภาพสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการและท้องถิ่นด้วย” นางสาวพัดชา กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น