สสส. หนุนโรงเรียนปลูกผักให้เด็กบริโภค  เพื่อสุขภาพดี ใช้เวลาเกิดประโยชน์

3.1

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาภาวะโภชนาการเกินและภาวะขาดสารอาหารในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะในวัยเด็กผลกระทบอันเกิดจากภาวะผอมและเตี้ยของเด็กไทยจะส่งผลต่อภาวะไอคิวของเด็กไทยที่มีค่าเฉลี่ยเพียง 98.59 แม้ว่าจะจัดอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนข้างไปทางต่ำกว่าค่ากลางมาตรฐานสากลซึ่งควรจะมีไอคิวอยู่ที่ 100

ด้วยเหตุนี้โรงเรียนบ้านห้วยไร่ ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลัก โภชนาการของนักเรียน  และการเชื่อมโยงแนวคิดการบริโภคผักปลอดสารพิษสู่ชุมชน  จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการบริโภคผัก ผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียนขึ้น เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ ความตระหนักและเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพตลอดจนลดการบริโภคน้ำหวานลงและเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้มากขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ดีของนักเรียนต่อไป

นายสุรศักดิ์ ราชสีห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่ (รัฐราษฎร์อนุกูล) กล่าวว่า ทางโรงเรียนตระหนักถึงปัญหาด้านการโภชนาการที่ไม่ถูกต้องในเด็กนักเรียน จึงได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาส่งเสริมการปลูกผักในโรงเรียน หลังจากที่ได้รับงบมาแล้วก็ได้เดินทางไปดูงานทั้งจังหวัดอุตรดิตถ์และเชียงใหม่ เพื่อมาพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานที่ ที่ทางโรงเรียนมีเพื่อทำการปลูกผัก ตาม “โครงการบริโภคผักผลไม้ เพื่อสุขภาพในโรงเรียน” โดยดึงชุมชนเข้ามาร่วมกับโครงการด้วย ซึ่งก็ได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะนอกจากเรามีผักหลากหลายชนิดในโรงเรียนแล้ว เด็ก ๆ ยังมีเวลาเรียนเพื่อเป็นความรู้ติดตัวในการดูแลแปลงผักอย่างถูกต้อง  ซึ่งการร่วมทำแปลงผักนี้ได้นำกลุ่มนักเรียนที่สนใจเข้ามาร่วมกลุ่ม ซึ่งทางโรงเรียนพยายามใช้งบประมาณ มาพัฒนาให้ได้คุณค่ามากที่สุด

นางดวงกมล สมสมัย ครูผู้เป็นหัวหน้างานรับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ก่อนเริ่มโครงการเราได้ออกสำรวจชุมชน ประชุมหมู่บ้าน และสังเกตพบว่าพฤติกรรมเด็กในโรงเรียนไม่นิยมบริโภคผัก ดังนั้นจึงได้เริ่มโครงการปลูกผักในโรงเรียน โดยปลูกตั้งผักท้องถิ่นหลายชนิด รวมถึงโรงเพาะเห็ด แล้วยังปลูกผักไฮโดรโพนิกอีกด้วยแต่ แต่การปลูกผักชนิดนี้เราได้ดัดแปลงจากแปลงผักที่เป็นรางน้ำมาเป็นท่อแอสร่อนและกระบอกไม้ไผ่ ที่หาได้จากรอบโรงเรียน และก็ได้ผลไม่แพ้กับรางน้ำที่เขาปลูกกัน และผักที่ปลูกทางโรงเรียนเน้นผักท้องถิ่นที่สามารถบริโภคได้ในโรงเรียน เช่น ผักบุ้ง ผักกาด ผักคะน้า อย่างนี้เป็นต้นหลังจากได้ผลผลิตแล้วก็ขายให้กับกลุ่มแม่ครัวที่ทำอาหารกลางวันในโรงเรียนก็มีเงินหมุนเวียนอยู่ในโรงเรียน และก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กให้หันมาบริโภคผักได้ดีอีกด้วย  ซึ่งนักเรียนก็ภูมิใจได้รับประทานผักที่ปลูกด้วยมือตนเอง การดึงชุมชนเข้ามาร่วมนี้ได้ผลมากเลยทีเดียว เราได้ตั้งเป็นคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ที่ดูแลคุมพืชผักผลไม้ ปลอดภัยในโรงเรียน โดยปราศจากสารต่าง ๆ และเด็ก ๆ ที่บริโภคก็มีสุขภาพดี

ร่วมแสดงความคิดเห็น