ข่วงเกษตร มลพิษทางอากาศ “หมอกควัน”

 

B11หมอกควัน เป็นลักษณะของมลพิษทางอากาศชนิดหนึ่ง ในอดีตหมอกควันเกิดขึ้นมาจากการผสมระหว่างควันกับซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากการเผาไหม้ถ่านหิน ส่วนหมอกควันในปัจจุบันเกิดจากควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม และทำปฏิกิริยากับแสงแดดซึ่งก่อให้เกิด หมอกควันแบบโฟโตเคมี หนึ่งในวิกฤตของภาคเหนือตอนนี้ คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง “ ปัญหาหมอกควัน ” เพราะได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือเป็นอย่างมาก ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี พื้นที่ในภาคเหนือตอนบนมักจะประสบกับปัญหาหมอกควันปกคลุม ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ของภาคเหนือตอนบนเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง, ลำพูน, น่าน, แพร่, ตาก, แม่ฮ่องสอน และพะเยา สาเหตุของการเกิดหมอกควันในภาคเหนือ ได้แก่ หมอกควันจากภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเขตชายแดนติดต่อกับทางตอนเหนือของประเทศไทย เช่น ประเทศลาว, ประเทศพม่า และประเทศจีน หมอกควันจากภายในประเทศ ๙ จังหวัดของภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง, ลำพูน, น่าน, แพร่, ตาก, แม่ฮ่องสอน และพะเยา เกิดจากการเผาป่าบนพื้นที่สูง การเผาเพื่อหาของป่า การเผาเศษพืชและวัสดุทางการเกษตร การเผาขยะมูลฝอยจากชุมชน การเผาวัชพืชริมถนน ควันเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันเสียจากการก่อสร้าง ควันเสียจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากยานพาหนะต่างๆ ผลกระทบของปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง เนื่องจากหมอกควันทำให้ทัศนียภาพในการมองเห็นไม่ชัดเจนสังคม ด้านเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจร้านค้าในพื้นที่ที่ประสบปัญหาซบเซา และด้านสุขภาพของประชาชนที่ต้องทนใช้ชีวิตท่ามกลางหมอกควันที่เป็นมลพิษ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด โรคภูมิแพ้ เป็นต้น ส่วนผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งทำให้เกิดโรคในหลายระบบตาม กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคตาอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ
+++แนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันในอนาคต+++ ทางศูนย์บริหารงานวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้าไปจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ โดยมีตัวแทนผู้เข้าร่วมในทุกๆภาคส่วนได้แก่ นักวิชาการ อาจารย์ ผู้นำท้องถิ่น เกษตรกร บริษัทธุรกิจ ประชาชนในพื้นที่ ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัด ๙ จังหวัด กระทรวงที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัย และสถานศึกษา มาช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นแนวทางแก้ไขที่สอดคล้องไปเป็นทางเดียวกัน เพื่อปัญหาหมอกควันจะได้หมดไปจากภาคเหนือของเรา
ผู้สนใจที่จะปรึกษาหารือ หรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องปัญหาหมอกควันในภาคเหนือกับทางศูนย์บริหารงานวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยท่านสามารถสอบถามรายละเอียดตามหมายเลขโทรศัพท์ 05-394-3614

ตวงทิพย์ มงคลดี
ผู้ประสานงานโครงการ
ศูนย์บริหารงานวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น