การปลูกข้าวหรือพืชทางเลือก ภายใต้วิกฤต “น้ำแล้ง”

B1 B2 B3 B4ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ภัยแล้งที่ยิ่งรุนแรงขึ้นในทุกปี อันเกิดจากสภาวะเอลนิโญ ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนเกิดภาวะฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรในหลายจังหวัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ NSTDA ได้ตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือผู้เดือดร้อน โดยวิธีการนำเสนอตัวอย่างเทคโนโลยีและแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวหรือพืชชนิดอื่น ภายใต้วิกฤตน้ำแล้ง 

ทั้งนี้ นางลำแพน ขันกสิกรรม นักวิชาการเกษตร ชำนาญการพิเศษ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 เปิดเผยว่า วิกฤตการณ์น้ำแล้งกับการเกษตรสำหรับทางภาคเหนือจะมีภาวะฝนแล้งในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ส่วนภาวะฝนทิ้งช่วงจะเกิดช่วงเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม กระทบต่อเกษตรกรที่จะต้องเตรียมรับมือกับการสำรองน้ำในพื้นที่ทำการเกษตร จากสถิติตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ถึงปัจจุบันในภาคเหนือตอนบนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยาะ จำนวน 20,000 กว่าไร่ สำหรับภาคเหนือตอนล่างได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร และสุโขทัย จำนวน 37,000กว่าไร่ พื้นที่นาข้าวจะได้รับความเดือดร้อนมาก ดังนั้นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงในภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำให้เหมาะสม เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดกับสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ได้วางมาตรการและแผนรองรับช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งคือ การบูรณาการการช่วยเหลือเกษตรกรและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรโดยการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนนาปรัง จะครอบคลุมเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน

นางลำแพน กล่าวต่อว่า กรณีการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย จะต้องเป็นพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตั้งแต่เพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มบริหารจัดการด้านการผลิต ด้านการตลาด และสินเชื่อ รวมถึงการรวมกลุ่มการผลิตในรูปของแปลงใหญ่ ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกรหรือหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการที่สร้างรายได้ทดแทนนาปรังในช่วงฤดูแล้ง โดยโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี2558/2559 เพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้และพัฒนาด้านการเกษตรรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง อีกทั้งมีแนวทางการส่งเสริมการเกษตรในรูปของเกษตรแปลงใหญ่ ความรู้ด้านเทคโนโลยีและโครงการต่างๆ เป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่ต้องการคำแนะนำและปรับแนวคิดการเกษตรแบบใหม่

ด้าน นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย สวทช. กล่าวว่า พืชทางเลือกจากงานวิจัย สวทช. สำหรับวิกฤตน้ำแล้ง ทางสวทช.ได้เล่งเห็นถึงกลุ่มตัวอย่างพืชทางเลือกจากผลการวิจัยของโครงการเกษตรอาหารในเครือข่ายงานวิจัย เพื่อส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยพืชทางเลือกที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ พืชตระกูลถั่ว โดยทางศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พัฒนาถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่ ฝักใหญ่กว่าปกติ ให้ผลผลิตที่ดี ปริมาณ 250-300 กิโลกรัมต่อไร่ ขนาดเมล็ดโต กล่าวคือ 1,000 เมล็ด จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 75-80 กรัม มีความต้านทานต่อโรคราแป้งกับโรคใบจุด ถั่วเขียวเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยเพียง 500 ลูกบาศก์เมตร อายุการเก็บเกี่ยว 65-70 วัน เป็นพืชที่ช่วยบำรุงดินและตัดวงจรโรคแมลงด้วย,ข้าวโพดข้าวเหนียวกล่ำ (ข้าวโพดสีม่วง) พันธุ์ลูกผสมและพันธุ์โอพี โดยอาจารย์กลม เลิศรัตน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,พริก พันธุ์พริกขี้หนูผลใหญ่ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่มีความเผ็ดสูง (สูงเกิน 500,000 สโควิล) นำไปใช้ในด้านการแพทย์สกัดสารแคปไซซินจากความเผ็ดของพริก นำไปทำเป็นยาทาบรรเทาอาการปวด พัฒนาโดยดร.สุชีลา เตชะวงศ์เสถียร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,แตงกวาเจอร์กีน แตงกวาอายุเพียงแค่ 1-2 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ,มันสำปะหลังพิรุณ 12 และมะเขือเทศ พันธุ์สแน็คสลิม จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างกลุ่มพืชทางเลือกที่สามารถใช้ในการทำเกษตร และเป็นแนวทางสร้างรายได้อันรวดเร็วให้กับเกษตรกรสำหรับวิกฤตน้ำแล้งได้

ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ได้ส่งเสริมความรู้ด้านการบูรณาการเทคโนโลยี สำหรับควบคุมการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ได้ยกตัวอย่าง บ้านห้วยขมิ้น จังหวัดสระบุรี ได้ผสมผสานเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทั้งใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของดิน ความเป็นกรด-ด่าง โปรแกรมคำนวนสัดส่วนการผสมปุ๋ย และการใช้สถานีตรวจวัดอากาศและอุณหภูมิ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างคุ้มค่า และสามารถลดต้นทุนลงได้ ทั้งนี้ได้แนะนำเทคโนโลยีไฮโดรแมมเบรนของประเทศญี่ปุ่น ในการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน โดยการเพาะปลูกพืชบนแมมเบรน ซึ่งมีคุณสมบัติให้ไอออนและธาตุอาหารไหลผ่านเข้าสู่ต้นพืชเท่านั้น ทำให้ประหยัดการใช้น้ำและสามารถผลิตวิตามินได้สูง นำไปผลิตมะเขือเทศในระบบโรงเรือน จากเทคโนโลยีที่กล่าวข้างต้น หากจะนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลทางด้านการตลาดและต้นทุนในการผลิต รวมถึงความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกในแนวคิดการทำเกษตรแบบยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ ผศ.ดร.ศุภธิดา อ่ำทอง คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อธิบายว่าในระบบการปลูกข้าวใช้น้ำน้อย แบบเปียกสลับแห้ง จะเห็นได้ว่าการปลูกข้าวนาปรังในแปลงขนาดใหญ่มากขึ้น จนเกิดสภาวะการขาดแคลนน้ำ จึงจำเป็นต้องรับมือภัยแล้งที่เกิดขึ้น โดยการใช้ระบบการปลูกข้าวแบบผสมผสาน แนวคิดการจัดการน้ำและการควบคุมปุ๋ย เริ่มจากการศึกษาระบบจัดการน้ำ สร้างสภาวะเปียกและแห้งให้กับนาข้าว วิธีการนี้จะทำในช่วงสัปดาห์ที่สองจนถึงช่วงข้าวตั้งท้อง จากนั้นก็ปล่อยให้ดินแห้งก่อนที่จะเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 15-20 วัน โดยการใช้ท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-20 ซม. ความสูงของท่อ 25 ซม. จากนั้นฝังลงไปในดินลึก 15 ซม. เหนือดินประมาณ 5-10 ซม. ลักษณะท่อจะต้องเจาะรูไว้เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 ซม. ไว้จำนวน 40 รู แต่ละรูห่างกัน 1 นิ้ว จากนั้นหาพื้นที่เรียบสม่ำเสมอ แล้วฝังลงไปในดินห่างจากต้นข้าวระยะหนึ่ง ให้สามารถวัดปริมาณน้ำในดิน เพื่อจะประเมินปริมาณความชื้นในดิน ซึ่งหากเห็นว่าน้ำในท่อเหลืออยู่แสดงว่า ระดับน้ำในดินยังคงอยู่ จากนั้นก็ปล่อยน้ำออกจากพื้นที่ปลูกข้าวไปเรื่อยๆ จนเห็นหน้าดินแห้งเกิดรอยแตกระแหง แต่ระยะของท่อที่ลึกลงไปอีก 15 ซม. ยังมีปริมาณน้ำในดินที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว จากนั้นก็ปล่อยน้ำเข้าสู่นาข้าวอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นขังน้ำไว้ตลอดเวลาในช่วงการเพาะปลูกนาข้าว จัดว่าเป็นวิธีการลดปริมาณการใช้น้ำสำหรับนาข้าว การปลูกแบบเปียกสลับแห้งจะเร่งการเจริญเติบโตของรากข้าว ทำให้รากข้าวหรือโคนข้าวมีความชื้นต่ำ อุณหภูมิผิวหน้าดินค่อนข้างสูง ดินสามารถถ่ายเทอากาศได้ดี การใช้แหนแดงเพื่อเพิ่มไนโตรเจนให้กับแร่ธาตุในดิน (แอมโมเนียม ไนเตรตและฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้น) เกิดการเจริญเติบโตของการแตกกอข้าวที่ดีกว่าวิธีการขังน้ำ (ขึ้นอยู่กับชนิดของดิน) ส่วนระบบการจัดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในสัดส่วนให้เหมาะสมในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโตของต้นข้าว จะทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น

และนางสาวประทุม สุริยา เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2552 (สวนครูปทุม) ได้อธิบายถึงเทคนิคการจัดการพื้นที่เพาะปลูก ภายใต้สภาวะน้ำน้อยว่า จากปีที่ผ่านมาประสบปัญหาวิกฤตน้ำแล้ง ตัวอย่างกรณี การปลูกนาข้าวของชาวนาในปีละหลายครั้ง ทำให้วิถีชีวิตเกษตรกรเปลี่ยนไป จนเกิดสภาวะการขาดแคลนน้ำมาใช้ในการเพาะปลูก จึงได้หาแนวทางและวิธีการรับมือการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง โดยใช้หญ้าแฝก พืชที่ดูดซับน้ำและคายน้ำให้พืชผลได้ดี เมื่อสามปีที่ผ่านมาได้ทดลองปลูกหญ้าแฝกบนไหล่คันนา โดยการปลูกไว้ข้างใดข้างหนึ่งของคันนา ซึ่งขณะนั้นเพียงแค่ปลูกไว้เพื่อป้องกันปูเข้ามาเจาะรูคันนา ปรากฏว่า ส่วนรากของหญ้าแฝกนั้น ช่วยอุ้มน้ำ โอบดิน และมีตัวจุลินทรีย์ สร้างธาตุอาหารให้กับพืชมากมาย จากนั้นก็ทดลองนำหญ้าแฝกไปปลูกสลับกับถั่วเหลือง โดยปลูกถั่วเหลือง 5 แถว สลับกับหญ้าแฝกหนึ่งแถว ในพื้นที่ 3ไร่ ซึ่งปกติจะให้น้ำ 15 วันต่อครั้ง แต่ในแปลงที่ปลูกหญ้าแฝกให้น้ำเพียงเดือนละครั้ง ทำให้ปริมาตรถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าเป็นการลดปริมาณการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับไม้ยืนต้นจะใช้วิธีการปลูกหญ้าแฝกแบบรอบนอกทรงพุ่ม ระยะห่างประมาณ 1 เมตร ช่วยดูดซับน้ำของพืชผลได้ดี นอกจากนี้ได้ใช้วิธีจัดการระบบกักเก็บน้ำในพื้นที่การเกษตร หรือที่เรียกว่า หลุมขนมครก เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้

นส.ธนพร วังหน้า นศ.ฝึกประสบการณ์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ // รายงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น