หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559

วิภาวัลย์  วรพุฒิพงค์
วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 มุ่งเป้าการเป็นศูนย์กลางภาคเอกชนสู่ AEC พร้อมจัดเสวนาแสดงศักยภาพเชียงใหม่ในการเป็น Smart City สนองนโยบายรัฐบาลยุคดิจิตอล อีโคโนมี่
หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2559 นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2520 ภายใต้พระราชบัญญัติหอการค้าพุทธศักราช 2509 ที่จะส่งเสริมให้พ่อค้านักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมรวมตัวกันเป็นสถาบันหอการค้า เพื่อส่งเสริมให้นักธุรกิจนักอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน ทั้งทางด้านคุณธรรมและวิชาการ อีกทั้งยังเป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนปกป้องรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมภายในจังหวัด ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการค้าทั้งในระดับจังหวัดระดับประเทศและระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ตามข้อบังคับของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ข้อที่ 33 กำหนดให้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้าประจำปีภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นปีโดยปีนี้ได้กำหนดจัดการประชุมขึ้นในวันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2559 เพื่อสรุปและรายงานผลการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมที่หอการค้าได้ดำเนินงานมาในรอบระยะ 1 ปีผ่านที่ผ่านมาของคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่สมัยที่ 20
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า วิสัยทัศน์การบริหารงานของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่สมัยที่ 20 ได้กำหนดไว้ว่าภายในปี 2559 หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นศูนย์กลางเอกชนสู่ AEC จึงเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งที่หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนและผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว และได้รับการพิจารณาให้รับรางวัลหอการค้ายอดเยี่ยม และรางวัลรณรงค์เพิ่มสมาชิกประจำปี 2558 ที่ผ่านมานับเป็นความภาคภูมิใจของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่งที่ประสบความสำเร็จ
ในปีนี้หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดเสวนาในหัวข้อเรื่องอนาคตเชียงใหม่สู่ smart city ซึ่งเป็นเรื่องที่ทันสมัยและเป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต ตามนโยบายดิจิตอลอีโคโนมี่ของรัฐบาล ที่จังหวัดเชียงใหม่จะได้พัฒนาสู่เมืองอินเทลลิเจนท์ city หรือเมืองแห่งปัญญาซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับเมือง เพื่อให้เกิดการใช้ชีวิตให้สะดวกสบายขึ้นและประชาชนพลเมืองเข้าถึงบริการของเมืองได้อย่างรวดเร็วสร้างความปลอดภัยมากขึ้น หรือผลักดันการเป็นสมาชิกที่ในอนาคต
ทางด้านดร.มนู อดีรดลเชษฐ์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาล ที่จะให้จังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ตเป็น smart city ว่า การที่จังหวัดเชียงใหม่จะเป็นสมาร์ทซิตี้ได้นั้น จะต้องตอบโจทย์ในใจให้ได้ก่อนโดยเฉพาะต้องทบทวนว่าในระยะเวลา 10 -20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการลงทุนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กร แต่ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้โดยเน้นเพื่อที่จะให้สามารถออกไปแข่งขันได้และถ้าไม่เชี่ยวชาญในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศก็จะไม่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้
ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีเป็นการสร้างเขี้ยวเล็บให้กับการแข่งขัน ซึ่งรัฐบาล และจังหวัดเชียงใหม่เองก็จะต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดี อยู่ดี กินดี เพราะบทบาทของเทคโนโลยีมีมากขึ้น ซึ่งการที่จังหวัดเชียงใหม่จะเป็น smart city ได้จะต้องให้มีการเชื่อมโยงเข้ากับยุทธศาสตร์ ดิจิตอลอีโคโนมีของรัฐบาล ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาล ได้ระดมความเห็นและวาง ยุทธศาสตร์ในเรื่องดังกล่าวโดยใช้เวลาถึง 20 เดือน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ระดับแรกก็คือในการพัฒนาประเทศ เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ระดับต่อมาคือระดับจังหวัดโดยรัฐบาลได้เลือกจังหวัดต้นแบบเพื่อที่จะนำร่องและเป็นโมเดลในการขับเคลื่อนไปสู่จังหวัดอื่นๆ และระดับที่ 3 ก็คือการเลือกให้จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง
“การกำหนดให้แต่ละเมืองเป็น smart city ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนในจังหวัดนั้นๆ ในส่วนของภาครัฐก็จะนำใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาทางด้านความก้าวหน้า เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นทั้งในเมืองและชนบท โดยเฉพาะใน 5 เรื่องเรื่องแรกก็คือการบริหารราชการแผ่นดินโดยใช้เทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวก ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้ประชาชนได้รับความสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงการส่งเสริมภาคเอกชนให้มีเขี้ยวเล็บ ประการต่อมาคือการสนับสนุนการอยู่อาศัยและการทำธุรกิจในเมืองอย่างปลอดภัย เพราะจังหวัดเชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ผู้ที่มาอยู่อาศัยหรือมาท่องเที่ยวจะต้องมีความรู้สึกปลอดภัยด้วย ดังนั้นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งสำคัญ”ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกล่าวและว่า
ประการต่อมาคือเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยี รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาทำให้ประชาชนในจังหวัดมีสภาพทางสังคมที่ดีขึ้น และประการสุดท้ายก็คือเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ในเรื่องดังกล่าว
ขณะที่นายกฤษณ์ ธนาวนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จริงๆ แล้วจังหวัดเชียงใหม่กำหนดวิสัยทัศน์ว่าเป็นนครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง และยังถูกวางให้เป็นเมืองไอซีทีซิตี้มาตั้งแต่ปี 2546 และปัจจุบันรัฐบาลก็วางให้เชียงใหม่เป็นสมาร์ทซิตี้ด้วย แต่สมาร์ทซิตี้ไม่ใช่นโยบายจากบนสู่ล่างหรือจากนโยบายจากส่วนกลางลงมา แต่เป็นความต้องการ ความจำเป็นบนพื้นฐานของการปรับตัวและการเข้าสู่การแข่งขันของโลกยุคไร้พรหมแดน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้วางยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุมในหลายๆ ด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข คุณภาพชีวิตและคมนาคม
รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า เชียงใหม่เป็นเมืองอันดับ 2 ของประเทศแต่ก็มีความเป็นเมืองและชนบทที่แตกต่างกันมาก ทั้งนี้จะต้องทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนในเมืองและชนบทให้ทัดเทียมกันให้ได้ ด้วยเหตุนี้จังหวัดเชียงใหม่จึงได้เตรียมพร้อมในทุกด้านที่จะขับเคลื่อนให้เชียงใหม่เป็น Smart City ให้ได้ เพราะขณะนี้เชียงใหม่ก็มี Smart Farmmer และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวค้นหาแหล่งท่องเที่ยว ที่พักและร้านอาหารรวมถึงเรื่องของการเดินทางอีกด้วย.

ร่วมแสดงความคิดเห็น