วิกฤติหนักแล้ง 59 เสียหายกว่า 2.86 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 2.71 แสนราย

b4 w=9h=6วิกฤติหนักแล้ง 59 เสียหายกว่า 2.86 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 2.71 แสนราย เผยภาครัฐทุ่มงบฯช่วยเหลือจาก 8 มาตรการแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท

ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยร่วมกันว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU-OAE Foresight Center : KOFC) ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ภัยแล้งกับแรงงานภาคเกษตรไทย พบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนที่เก็บกักใน 33 เขื่อนหลักและอ่างต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีน้ำไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพด้านเกษตรกร รวมทั้งอาชีพอื่น ๆ ที่ใช้น้ำมาก ซึ่งกรมชลประทานเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบในหลายพื้นที่จะต้องประสบปัญหาภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทาน
ขณะเดียวกันจากการติดตามของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2558 ต่อเนื่องต้นปี 2559 (เดือนพฤษภาคม 2558-กุมภาพันธ์ 2559) พบความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ 2.86 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 271,341 ราย ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชและทำนาได้ตามฤดูกาล ซึ่งระยะยาวอาจทำให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลง เกิดผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของชุมชนและเกษตรกร โดยเฉพาะแรงงานภาคการเกษตร

ทั้งนี้ สถานการณ์ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานภาคเกษตรเป็นอันดับแรก เนื่องจากเกษตรกรเกิดภาวะการว่างงานและขาดรายได้ในช่วงที่ประสบภัยแล้ง ดังนั้น รัฐจึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนให้สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ปี 2558/2559 จำนวน 8 มาตรการ 45 โครงการ ซึ่งมีหลายหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/2559 ระดับชาติ (ศก.กช.) รวม 8 มาตรการ ดังนี้

1.การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อการยังชีพและลดรายจ่ายในครัวเรือน หากมีเหลือจึงจำหน่าย วงเงิน 1,028.80 ล้านบาท

2.การชะลอ/ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสินเชื่อ ให้เกษตรกรที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน วงเงิน 6,052.01 ล้านบาท

3.การจ้างงานสร้างรายได้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ในขณะที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ วงเงิน 2,241.93 ล้านบาท

4.การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้งให้ชุมชนมีแผนการพัฒนาความต้องการและเหมาะสมกับชุมชนวงเงิน 147.67 ล้านบาท

5.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำส่งเสริมรณรงค์ให้วิธีการเกษตรกรและประชาชนประหยัดน้ำ วงเงิน 10 ล้านบาท

6.การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เพิ่มโอกาสใช้ประโยชน์จากน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้น วงเงิน 5,670.90 ล้านบาท

7.การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อสุขภาวะที่ดีจากโรคภัยและลดการสูญเสียทรัพย์สินทางการเกษตร

8.การสนับสนุนอื่น ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง วงเงิน 307 ล้านบาท รวมงบประมาณ 15,458.31 ล้านบาท และทั้ง 8 มาตรการ มีงบประมาณที่เบิกจ่ายแล้ว 15,458.31 ล้านบาท

ร่วมแสดงความคิดเห็น