ทีมวิจัยคณะวิทย์ มช. ค้นพบเชื้อราเอนโดไฟท์สร้างไอระเหย ชนิดใหม่ของโลก

1458288980091

ทีมวิจัยคณะวิทย์ มช.
ค้นพบเชื้อราเอนโดไฟท์สร้างไอระเหย ชนิดใหม่ของโลก

ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยด้านการพัฒนาแบบยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติจุลินทรีย์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค้นพบเชื้อราเอนโดไฟท์สร้างไอระเหย ชนิดใหม่ของโลก  5 ชนิด ที่แยกได้จากอบเชย   ข้าวป่า กล้วยป่า และหญ้าถอดปล้อง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสามารถนำไอระเหยจากเชื้อรา 2 ใน 5 ชนิด มาใช้ประโยชน์ในการควบคุมจุลินทรีย์ก่อโรคในพืชได้ ทั้งระหว่างการปลูกและหลังการเก็บเกี่ยว พร้อมช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช และช่วยละลายธาตุอาหารในดิน

ห้องปฏิบัติการวิจัยด้านการพัฒนาแบบยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติจุลินทรีย์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของราเอนโดไฟท์ ซึ่งเป็นราที่อาศัยอยู่ในชั้นเอนโดเดอร์มิส (endodermis) ของพืชและยังมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันอันตรายแก่พืช เช่น ป้องกันการเข้าทำลายของจุลินทรีย์ก่อโรคพืช ป้องกันการกัดกินใบพืชของแมลงและเพิ่มความทนทานแก่พืชในฤดูแล้ง อีกทั้งราเอนโดไฟท์สามารถช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชอาศัย ซึ่งทางห้องปฏิบัติการดังกล่าวได้ค้นพบราเอนโดไฟท์ที่สร้างไอระเหยสกุล Muscodor ชนิดใหม่ของโลก จำนวน 5 ชนิด คือ Muscodor cinnamomi, M. suthepensis, M. oryzae, M. musae และ  M. equiseti ที่แยกได้จากพืชอบเชย ข้าวป่า กล้วยป่า และ หญ้าถอดปล้อง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดย ดร. นครินทร์ สุวรรณราช อดีตนักศึกษาปริญญาเอก สาขาชีววิทยาเป็นผู้คัดแยก โดยมีศาสตราจารย์ ดร. สายสมร ลำยอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ในการค้นพบนี้นับเป็นการรายงานครั้งแรกของราเอนโดไฟท์ที่สร้างสารระเหยสกุล Muscodor ชนิดใหม่ของนักวิจัยประเทศไทย ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Mycotaxon volume 114 หน้า 15-23 และ วารสาร Annals of Microbiology volume 63 หน้า 1341-1351
ปัจจุบัน ดร.นครินทร์ สุวรรณราช ได้รับทุนผลิตผลงานวิจัยหลังปริญญาเอกของศูนย์บริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ร่วมวิจัยกับนักวิจัยอีก 2 ท่าน คือ ดร.จตุรงค์ คำหล้า และ Prof. Dr. Kenji Matsui แห่ง Yamaguchi University ประเทศญี่ปุ่น ทำการวิจัยในเรื่องการนำเอาไอระเหยของรา M. cinnamomi และ M. suthepensis ไปใช้ประโยชน์ในการควบคุมจุลินทรีย์ก่อโรคระหว่างการปลูกและหลังการเก็บเกี่ยวของพืช ซึ่งได้ตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ผลการทดลองทั้งหมด 3 เรื่อง ในวารสารที่ยอมรับระดับนานาชาติ World Journal of Microbiology and Biotechnology, วารสาร Journal of the Science of Food and Agriculture และ วารสาร Biological Control ของปีที่ผ่านมา อีกทั้งได้ขอยื่นจดสิทธิบัตรการนำเอาราสกุล Muscodor ไปใช้ประโยชน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว งานวิจัยนี้สนับสนุนโดยทุนมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติภายใต้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ทุนศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น Japan Society for the Promotion of Science (JSPS) และ Japan Student Services Organization (JASSO)

ร่วมแสดงความคิดเห็น