หมอกควันน่าห่วง หวั่นกระทบสุขภาพและทางเดินหายใจ

36064
สถานการณ์หมอกควันยังวิกฤติหลายพื้นที่ค่า PM10 เกินมาตรฐาน ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ล่าสุด ผอ.สคร.1 เชียงใหม่ ออกเตือนประชาชนที่ต้องออกทำงานกลางแจ้ง และกลุ่มเสี่ยง ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ พร้อมแนะแนวทาง สังเกตุตัวเองหลังมีอาการสุ่มเสี่ยงเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ให้รีบพบแพทย์ทันที

วันที่ 19 มี.ค.59 นายแพทย์วิทยา หลิวเสรี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า วิกฤตด้านสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่ต้องพบเป็นประจำทุกปี คือ ปัญหาหมอกควันในช่วงเดือนมกราคม – เมษายนของทุกปีในพื้นที่มักประสบปัญหาหมอกควันปกคลุม ส่งผลกระทบด้านด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม หรือ การคมนาคม เนื่องด้วยลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ของภาคเหนือตอนบนเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ และสภาวะอากาศในระยะนี้ขึ้นกับตัวแปรต่างๆของฤดูกาล เช่น ความกดอากาศต่ำ ปรากฏการณ์ ENSO ที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของภูมิอากาศในรูปแบบความแห้งแล้ง ฝน และความหนาวเย็น ประกอบกับในพื้นที่มีเกิดไฟป่า การเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย หรือเผาเศษพืช และวัสดุการเกษตร ทำให้ปัญหาหมอกควันยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากระบบเฝ้าระวังปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ในแต่ละปี ได้ทำการเฝ้าระวังด้านสุขภาพจากจำนวนผู้ป่วยที่อาจได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน ใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ อย่างใกล้ชิด เพราะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมักมีโรคแทรกซ้อนได้ง่าย

นายแพทย์วิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลสุขภาพมากเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจออยู่แล้ว เช่น ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้โรคหอบหืดโรคถุงลมโป่งพองโรคหัวใจ กลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์และผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อการได้รับหมอกควัน และฝุ่นละอองอยู่แล้ว เช่น พนักงานดับไฟป่า คนงานในโรงงานโม่หิน คนงานก่อสร้าง ซึ่งสามารถ

โดยจะสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ได้ด้วยตัวเอง คือ ระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ เสียงแหบ ไอแห้งๆ ไอมีเสมหะ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด ระบบโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย เท้าบวม ชีพจร (หัวใจเต้นเร็ว) ระบบผิวหนัง เช่น คันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย และระบบตา เช่น แสบหรือคันตา ตาแดง น้ำตาไหล มองภาพไม่ชัด สำหรับการดูแลตัวเองในการลดสัมผัสกับหมอกควัน ซึ่งประชาชนควรเลือกใช้อุปกรณ์ปกป้องระบบหายใจ เลือกใช้หน้ากากประเภท “Particulate respirator” ที่มีเครื่องหมาย NIOSH ทั้งประเภท N95 หรือ P100 อาศัยอยู่ในบ้าน ในสถานการณ์หมอกควัน ช่วงที่ระดับฝุ่นลดลง แนะนำให้ประชาชนทำความสะอาดบ้านหรืออาคารโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่สะสมอยู่ในบ้านหรืออาคารควรหลีกเลี่ยงการใช้ไม้กวาดทำความสะอาด เนื่องจากจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย ลดกิจกรรมที่ใช้แรง เป็นมาตรการในการลดการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ รวมทั้งลดความเสี่ยงทางสุขภาพในช่วงปัญหาหมอกควัน ลดแหล่งมลพิษอื่นๆภายในบ้าน เช่น การสูบบุหรี่ การใช้เตาถ่าน การใช้สเปรย์ฉีดพ่นในบ้าน การจุดเทียน การทำอาหาร การใช้เครื่องดูดฝุ่น กวาดพื้น การใช้เครื่องปรับอากาศและแผ่นกรองอากาศ ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องผลิตโอโซน (Ozone generators) เนื่องจากจะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ เกิดอาการไอ แน่นหรือเจ็บหน้าอก หายใจได้ในช่วงสั้นๆ จัดให้มีห้องสะอาดภายในบ้าน แนะนำให้จัดหาห้องสะอาดภายในบ้านของตนเอง ซึ่งเป็นห้องที่มีฝุ่นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห้องที่เลือกเป็นห้องสะอาดควรเป็นห้องที่มีประตู/หน้าต่างน้อยที่สุด แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม แสบตา ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ร่วมแสดงความคิดเห็น