หมู่บ้านหัตถกรรมชาวยอง ผ้าฝ้ายบ้านดอนหลวง

DSC_6541 DSC_6559ป่าซาง ได้ชื่อว่าเป็นอำเภอที่มีชาวบ้านทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองมากที่สุดและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในลำพูน เมื่อราวยี่สิบปีก่อนร้านค้าริมถนนในป่าซางจะเป็นร้านขายผ้าทอเกือบทุกร้าน นักท่องเที่ยวจากที่อื่น ๆ หรือแม้แต่กลุ่มทัวร์ชาวต่างประเทศก็นิยมเดินทางมาเยือนที่ป่าซางแห่งนี้อยู่เสมอ

แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่ายี่สิบแล้ว ปัจจุบันร้านค้าต่าง ๆ ในป่าซางจะหันมาขายสินค้าประเภทอื่น แต่ยังมีร้านค้าบางร้านที่ยังคงขายผ้าฝ้ายทอมือแบบพื้นเมืองของป่าซางอยู่ แม้จะไม่ฟู่ฟ่าเหมือนเดิม แต่ก็ยังเป็นเอกลักษณ์และอนุรักษ์งานทอผ้าของป่าซางไม่ให้สูญสลายไป

ปัจจุบันอำเภอป่าซางเป็นอำเภอหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่อง “ผ้าฝ้ายทอมือป่าซาง” มีแหล่งผลิตที่เป็นชุมชนใหญ่อยู่ที่บ้านดอนหลวงและบ้านหนองเงือก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง ซึ่งได้รับการสืบทอดวัฒนธรรม การทอผ้าจากบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน โดยนำผ้าทอมาทำการตกแต่งเครื่องเรือนประเภทผ้าคลุมเตียง ผ้าม่าน ปลอกหมอน ผ้ารองจาน ผ้าคลุมตู้เย็น ผ้าปูโต๊ะ พรมเช็ดเท้า ซึ่งทางจังหวัดลำพูนได้เข้าไปส่งเสริมในเรื่องของการทอผ้าฝ้ายและการแปรรูปผ้าฝ้ายทอมือมาโดยตลอด ทำให้ผ้าฝ้ายทอมือของอำเภอป่าซางเป็นงานหัตถกรรมที่สร้างรายได้สร้างอาชีพให้ชาวป่าซางเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายแปรรูปที่ตรงกับความต้องการของตลาดให้มากที่สุด

บ้านดอนหลวง ยังคงดำรงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้ ชาวบ้านภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่ยังประะกอบอาชีพทำการเกษตรและการทอผ้าฝ้าย รวมถึงยังมีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมีสมาชิกกลุ่มที่เข้มแข็งและยังได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมประเภทการทอผ้าฝ้าย กลุ่มทอผ้าฝ้ายบ้านดอนหลวงแห่งนี้มิได้เป็นเพียงแหล่งผลิตเพื่อส่งผ้าฝ้ายทอมือไปขายตามสถานที่ต่าง ๆ เท่านั้น สมาชิกภายในกลุ่มยังได้ร่วมมือร่วมใจกันสนับสนุนโครงการนี้เพื่อต้องการให้โครงการสำเร็จลุล่วง เป็นช่องทางในการจำน่ายสินค้าและให้นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นเดินทางมาเยือนบ้านดอนหลวงอีกด้วย

การทอผ้าของบ้านดอนหลวง เป็นการทอผ้าแบบดั่งเดิมของชาวยองจริง แม้ว่าขั้นตอนบางอย่างจะประยุกต์ให้เข้ากับสมัยนิยมก็ตาม แต่โดยรวมแล้วยังถือว่าเป็นการทอแบบเก่า โดยเฉพาะกี่ที่ใช้ทอผ้านั้นมีความกว้างกว่า 5 ฟุต ซึ่งต้องใช้คนนั่งทอถึง 2 คน เมื่อได้ฝ้ายมาแล้วก็จะนำไปปั่นฝ้ายให้ออกมาเป็นเส้น ชาวยองเรียกขั้นตอนนี้ว่า “กวักฝ้าย” จากนั้นก็จะนำฝ้ายไปเข้าในกี่ทอผ้าแยกออกเป็นมัด ๆ มัดละ 2 เส้นบ้าง 3 เส้นบาง วิธีนี้ชาวยองเรียกว่า “ขินหูก” หรือ “สืบหูก” เสร็จจากขั้นตอนนี้ก็ถึงวิธีการทอผ้าฝ้ายให้ออกมาเป็นผืน

ผ้าฝ้ายทอมือของชาวยองบ้านดอนหลวงจะมีการทออยู่ 2 แบบ คือทอแบบลูกฟูกและทอแบบพื้นเรียบ ซึ่งทั้งสองแบบก็สวยงามไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ผ้าฝ้ายทอของชาวยองยังได้มีการนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า ปลอกหมอน ผ้าปูโต๊ะ ตุ๊กตา กระเป๋า ฯลฯ ไว้จำหน่ายในหมู่บ้านอีกด้วย เรียกได้ว่านอกจากจะมีความสามารถในการทอผ้าแล้วยังรู้จักประยุกต์ผ้าทอของตนเองให้เป็นสินค้าต่างๆ ได้อีกด้วย

ในหมู่บ้านดอนหลวงนอกจากผู้หญิงจะทอผ้าอย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว ผู้ชายชาวยองก็ไม่น้อยหน้า มีการรวมกลุ่มตั้งเป็นกลุ่มแกะสลักไม้ขึ้นในหมู่บ้าน คุณสมคิด จันศิริ ผู้มีอาชีพแกะสลักไม้แห่งบ้านหนองเงือกบอกว่า หลังจากว่างเว้นทำนาก็จะรวบรวมชาวบ้านให้มาแกะสลักไม้เป็นรูปต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตา แมว ม้า กรอบรูป ฯลฯ โดยจะมีพ่อค้าแม่ค้าจากบ้านถวาย อำเภอหางดงมารับซื้อ ดังนั้นหากจะเรียกหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมก็คงจะไม่ผิดนัก

หมู่บ้านดอนหลวง จึงนับเป็นหมู่บ้านตัวอย่างหนึ่งในหลายหมู่บ้านที่มีความพยายามจะฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวยองโดยเฉพาะการทอผ้าของชาวยองให้กลับมาสร้างชื่อเสียงให้กับป่าซางอีกครั้ง แม้ว่าพวกเขาจะไม่หวังให้ผ้าทอชาวยองโด่งดังเหมือนกับผ้าทอแม่แจ่มจากเชียงใหม่หรือผ้าทอยกดอกแบบดั่งเดิมของลำพูน แต่การสืบสานวัฒนธรรมประเพณีการทอผ้าแบบชาวยองก็ถือเป็นหนึ่งในความภูมิใจของชาวบ้านดอนหลวงทุกคน.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น