นักท่องเที่ยวทึ่งความงาม อุโบสถเงินใหญ่ที่สุดในโลก

47222

เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานที่วัดศรีสุพรรณ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดงานปอยหลวง เฉลิมฉลองอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ พร้อมฉลอง 720 ปี นพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่ช่วงนี้เป็นช่วงของวันแต่งดา (เป็นภาษาเหนือคือ วันจัดเตรียมงาน) งานจะเริ่มในวันที่ 28 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2559 ในช่วงเตรียมงานนี้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้าชมจำนวนมาก

พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ กล่าวว่า ขอเชิญร่วมทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ ถวายทานอุโบสถเงินหลังแรกของโลก เพื่อฝากศิลป์แก่แผ่นดิน ถวานไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เทิดไท้องค์ราชันย์รัชกาลที่ 9 ชมขบวนแห่งานปอยหลวง การแสดงละครย้อนยุค การแสดงจากศิลปินเมืองชีอาน ประเทศจีน การแสดงศิลปะประจำชนชาติไต, มหรสพพื้นบ้าน นิทรรศกาลภูมิปัญญาล้านนา ตลาดถนนวัฒนธรรมวัวลาย ฯลฯ ตลอดงาน ณ วัดศรีสุพรรณ ชุมชนหัตถกรรมเครื่องเงิน ถนนวัวลาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

“วัดศรีสุพรรณ พระสงฆ์สามเณรและมูลศรัทธาวัดศรีสุพรรณ ช่างภูมิปัญญา ชาวบ้าน พร้อมทั้งพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาทั่วสารทิศ ร่วมใจกันสร้างอุโบสถเงิน บนฐานและพัทธสีมาเดิมพระประธานองค์เดิม (พระเจ้าเจ็ดตื้อ) โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยงานศิลปหัตถกรรมเครื่องเงิน ชุมชนวัวลาย เลือกใช้เงินบริสุทธิ์ประดับส่วนสำคัญและปลอดภัย และอะลูมิเนียมเป็นวัสดุแทนเงิน ประดับทุกส่วนทั้งหลัง ซึ่งเป็นหลังแรกที่ช่างภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมเครื่องเงินกลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น โดยได้รับความเมตตานุเคราะห์จากศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีเป็นประธานที่ปรึกษาการดำเนินงานและได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอนุญาตตราสัญลักษณ์ครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ให้ช่างผีมือได้จัดทำขึ้นเพื่อประดิษฐานหน้าบรรณอุโบสถเงินหลังนี้”

พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานก่อสร้างอาศัยมิติทางพระพุทธศาสนาบูรณาการกับมรดกทางภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องเงินชุมชนวัวลาย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ถึงปัจจุบันรวมเวลา 12 ปี เพราะจำเป็นต้องอาศัยฝีมือช่างภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างสรรค์งานศิลปะที่ปราณีตและต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุที่ต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะสร้างสรรค์งานได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ “เพื่อฝากศิลป์แก่แผ่นดิน ถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เทิดไท้องค์ราชันย์ รัชกาลที่ 9” สืบไป

“บัดนี้สมณศรัทธา มูลศรัทธา พุทธศาศนิกชนผู้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์งานชิ้นนี้จะได้จัดงานทำบุญ “ปอยหลวงอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ ฉลอง 720 ปี นพศรีนครพิงค์เชียงใหม่” โดยจะได้ถวายมหาสังฆทานศาสนสถานศาสนวัตถุไว้ในบวรพระพุทธศาสนาตามรายการที่สำคัญดังนี้ 1.อุโบสถเงิน ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 17 เมตร สูง 18 เมตร ใช้เวลาสร้างสรรค์งาน 12 ปี สิ้นทุนทรัพย์จำนวน 35,152,314 บาท สามสิบห้าล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นสองพันสามร้อยสินสี่บาทถ้วน 2.ปฏิสังขรณ์หอไตรและปรับปรุงชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์ช่างสิบหมู่ภูมิปัญญาล้านนา 1 หลัง สิ้นทุนทรัพย์จำนวน 955,000 บาท (เก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) 3.สร้างพระพุทธรูปจำลอง พระเจ้าเจ็ดตื้อ เนื้อทองสัมฤทธิ์และเงินยวงพร้อมแท่นประดิษฐาน จำนวน 2 ชุด สิ้นทุนทรัพย์ จำนวน 1,250,000 บาท (หนึ่งล้านสองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน” รวมทุนทรัพย์ในการก่อสร้างทั้งสิ้น จำนวน 37,357,314 (สามสิบเจ็ดล้านสามแสนห้าหมื่นเจ็ดพันสามร้อยสิบสี่บาทถ้วน”

พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ กล่าวอีกว่า กำหนดการจัดงานวันนี้ได้เป็นวันแต่งดา มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมจำนวนมากแล้ว แต่ในวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2559 ตรงกับแรม 6 ค่ำเดือน 6 เหนือ เวลา 10.09 น. พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 2 แผ่นดิน ประดิษฐานภายในอุโบสถ วันอังคารที่ 29 มีนาคม 2559 เวลา 7.00 น. พิธีบวงสรวงขบวนแห่และพิธีเปิดงานปอยหลวง วันพุธที่ 30 มีนาคม 2559 เวลา 14.00 น. พิธีทักษิณานุปทาน อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ บูรพามหากษัตริย์ ตลอดคืน เวลา 19.00 น. พิธีพุทธาภิเษกพระพุทธปาฎิหาริย์ฯ (พระเจ้าเจ็ดตื้อ)และวัตถุมงคลประดิษบานอุโบสถเงินตลอดคืน

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2559 เวลา 9.30 น. พิธีถวายทานอุโบสถเงินและศรัทธาวัดศรีสุพรรณแห่คัวตานร่วมทำบุญ วันศุกร์ที่ 1 เมษายน เวลา 15.00 น. หัววัดจากทิศทั้ง 4 จำนวน 400 หัววัดร่วมทำบุญอนุโมทนาตลอดทั้งวัน วันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2559 เวลา 17.00 น. พิธีเปิด “ตลาดประชารัฐชุมชนวัดศรีสุพรรณ”  และเยี่ยมชมถนนวัฒนธรรมวัวลาย วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน  2559 เวลา 15.00 น. หัววัดจากทิศทั้ง 4 จำนวน 320 หัววัด ร่วมทำบุญอนุโมทนาเป็นวัดสุดท้าย

จึงขอเจริญพรเรียนเชิญ สมณศรัทธา มูลศรัทธา พุทธศาสนิกชนทุกท่านร่วมงานทำบุญ “ปอยหลวงอุโบสถเงินวัดศรีสุรรณ ฉลอง 720 ปี นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ร่วมกันถวายมหาสังฆทาน ศาสนสถาน ศาสนวัตถุไว้ในบวรพระพุทธศาสนาสืบไป.

ร่วมแสดงความคิดเห็น