สธ.ติวเข้มทีมสหวิชาชีพ ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

98

กระทรวงสาธารณสุข อบรมทีมวิทยากรสหวิชาชีพ เพื่อพัฒนาบุคลากรผู้ปฎิบัติงานคลินิกชะลอไตเสื่อม เพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองและดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ประมาณ 8 ล้านคน เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดอัตราการเกิดโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย

ปัจจุบันกลุ่มโรคไม่ติดต่อหรือโรคเอ็นซีดี เช่น โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หัวใจ เป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทยและทั่วโลก กระทรวงสาธารณสุขได้คัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย และกลุ่มป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน ให้เข้ารับการดูแลรักษาที่เอ็นซีดีคลินิก เพื่อดูแลป้องกันกลุ่มโรคนี้ให้ดีขึ้น โดยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคไตเรื้อรัง ที่พบมากขึ้นทั้งจำนวนคนป่วยและเงินงบประมาณที่ใช้ การตั้งคลินิกชะลอไตเสื่อม จึงเป็นจุดเริ่มต้น (entry point) เนื่องจากใช้องค์ความรู้และระบบบริการเป็นหลักการเดียวกับโรคเอ็นซีดี ที่บริการด้วยทีมสหวิชาชีพ ตั้งเป้าปี 2559 จัดตั้งคลินิกชะลอไตเสื่อมในโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียงขึ้นไป ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบบริการการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง รวมถึงโรค เอ็นซีดี อื่นๆ

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานเริ่มจากคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงว่ามีการทำงานของไตในระดับใด โดยกลุ่มเป้าหมายคือ การทำงานของไต (e GFR.) อยู่ระดับ 3-4 ให้เข้ารับบริการที่คลินิกดูแลด้วยทีมสหวิชาชีพ มีพยาบาลแนะนำเรื่องโรคไตและการปฏิบัติทั่วๆไป นักโภชนาการแนะนำเรื่องการกินอาหาร นักกายภาพบำบัดแนะนำเรื่องการออกกำลังกาย เภสัชกรแนะนำเรื่องการใช้ยา แล้วพบแพทย์ โดยหวังให้มีการชะลอความเสื่อมของไตออกไปอีกเจ็ดปี ซึ่งจะประหยัดเงินงบประมาณค่ารักษากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามมีวิธีปฏิบัติชะลอไตเสื่อม 5 ข้อ คือ 1.ดื่มน้ำให้เพียงพอ 2.ควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดี 3.งดเหล้า บุหรี่ 4.หลีกเลี่ยงรสเค็ม และ 5.หลีกเลี่ยงกินยาแก้ปวดเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่มีทะเบียน
ด้านนพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายกรมการแพทย์รับผิดชอบพัฒนาบุคลากรสหวิชาชีพผู้ปฏิบัติงานในคลินิกชะลอไตเสื่อม (CKD clinic) ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองและดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 8 ล้านคนให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งลดอัตราการเกิดโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ปัจจุบันมีผู้ป่วยอยู่ประมาณ 7 หมื่นคนและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15-20 ต่อปี ผู้ป่วยเหล่านี้มีอัตราเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูง คุณภาพชีวิตต่ำ ใช้งบประมาณดูแลรักษามากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

ร่วมแสดงความคิดเห็น