รพ.ลานนา เตือนระวังคอเสื่อม ปวดหลัง จากกลุ่มอาการ “โนโมโฟเบีย”

4.1

ใครบ้างที่มีพฤติกรรมติดโทรศัพท์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะไปไหน ทำอะไรก็ต้องพกโทรศัพท์ติดตัวตลอดเวลา ห่างจากโทรศัพท์ไม่ได้เลยทีเดียว  เวลาว่างๆ ไม่ได้ทำอะไร ก็ต้องหยิบจับโทรศัพท์มาเล่น มาแชท แชะ แชร์อยู่เสมอ ห่างเหินจากคนรอบตัว และมักไม่สื่อสารด้วยคำพูด คนพวกนี้มีความเสี่ยงเข้าข่ายของกลุ่มอาการ “โนโมโฟเบีย”

ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับกลุ่มอาการ “โนโมโฟเบีย” ว่ามันคืออะไรกันแน่ ? … อย่างที่กล่าวไปในขั้นต้นแล้วว่า กลุ่มอาการเหล่านี้ ก็คือคนที่มีอาการติดสมาร์ทโฟน แท็ปเลทต่างๆ ที่ชอบอยู่ในโลกของสังคมออนไลน์ตลอดเวลา เวลาห่างจากตัวไม่ได้ และเมื่อห่างจากตัวเมื่อไหร่ ก็มักจะมีความวิตกกังวล กระวนกระวาย เหมือนขาดอะไรไปสักอย่างในชีวิต ซึ่งอาการเหล่านี้จริงๆ แล้วในทางการแพทย์อาจไม่ได้มีผลต่อร่างกายใดๆ ในทันที แต่จะมีผลต่อจิตใจมากกว่า ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆ กลุ่มอาการเหล่านี้ จะส่งผลโดยตรงกับร่างกายได้หลายส่วน แรกๆ ที่เห็นได้ชัดคือ ดวงตา เพราะว่าเรามองหน้าจออยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ดวงตาทำงานหนัก  ยิ่งถ้าบางคนอยู่ในที่แสงไม่พอและใช้งานโทรศัพท์มือถือที่ต้องใช้แสงจ้าด้วยยิ่งมีปัญหามากขึ้นกับสายตา  และอาจจะเสื่อมก่อนวัยได้ในที่สุด

ผลเสียอีกอย่างหนึ่งกับร่างกายที่เกิดขึ้นจากการติดโทรศัพท์ โดยมักจะมีอาการปวดหลัง ปวดคอง่าย และบ่อยๆ ขึ้น ผลพวงเหล่านี้มักเกิดจากท่าทางในการเล่นโทรศัพท์ จะเห็นได้จากบางคนที่ก้มหน้า ก้มตา จ้องมองหน้าจอตลอดเวลา โดยเปลี่ยนท่าทางน้อยมากๆ ส่งผลให้เมื่อเวลาผ่านไปหลายๆ นาที เริ่มมีอาการปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ตามมาได้ อาการเหล่านี้หากเป็นบ่อยๆ จะทำให้กระดูกคอเสื่อมได้เร็ว ลามไปถึงส่วนของเส้นประสาทที่อาจมีการกดทับกันได้ง่ายๆ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นเอง จะต้องมีการรักษาที่ยุ่งยากมากขึ้น จนถึงขั้นต้องผ่าตัดกันเลยทีเดียว ถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียตั้งแต่วันนี้

จริงอยู่ที่ปัจจุบัน เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเทคโนโลยี ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของเราได้ แต่หากเรารู้ตัวเอง ควบคุมตัวเองได้ ใช้อย่างเหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา ก็จะเป็นผลดีต่อเรา แต่หากหลีกเลี่ยงการใช้งานไม่ได้ ก็ควรมีท่าทางที่เหมาะสมในการใช้ ควรพัก และละสายตาจากหน้าจอบ้าง รวมถึงหมั่นบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้

หากท่านใดที่มีอาการปวดหลัง ปวดคอบ่อยๆ เป็นๆ หายๆ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจหรือปล่อยทิ้งไว้ ควรแวะเข้ามาพบแพทย์บ้าง เพื่อวินิจฉัยอาการ และหาแนวทางการรักษา ก่อนที่อาการจะลุกลามและเรื้อรังต่อไป สอบถามเพิ่มเติมและปรึกษาแพทย์ได้ที่ ศูนย์โรคปวดหลัง โรงพยาบาลลานนา โทร.053-999-777

ร่วมแสดงความคิดเห็น