เมนูอร่อย แบบฉบับ “ไตลื้อ”

ปีกซ้าย IMG_3740
“อยู่ดี กินหวาน” เป็นคำทักทายและอำลาของชาวไทยูนนานหรือชาวไตลื้อ ซึ่งจากบทความเรื่อง “ความหมายของ คำทักทาย” โดย ศ. ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ได้ขยายความว่า คำๆนี้เป็นการแสดงปฏิสันถารและอำนวยอวยพรในเรื่อง “การกินดีมีสุข” ไปในตัว

ซึ่งเมื่อทักทายกันไปเป็นที่เรียบร้อบแล้ว เราก็มาเที่ยวบ้านไตลื้อกันได้ ซึ่งวันนี้จะพามาเที่ยว ไตลื้อ บ้านลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

โดยชุมชนนี้เป็น ไตลื้อ ที่อพยพหนีภัยสงครามจากเขตสิบสิงปันนา (สาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน) มาตั้งหลักปักฐานในราวปี พ.ศ. 1932

ซึ่งปัจจุบัน ไตลื้อบ้านลวงเหนือแห่งนี้ ก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั่งเดิมของบรรพบุรุษไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาพูด การแต่งกาย หรือว่าอาหารการกิน เป็นต้น

ในเรื่องของอาหารการกินนั้น ไตลื้อ บ้านลวงเหนือ เขามีเมนูเด็ดมาแนะนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผัดไทยไตลื้อ , โสะบะก้วยเต้ดลื้อ , ข้าวแคบ และขนมวง เป็น

“ผัดไทยไตลื้อ” เป็นอาหารที่คนไตลื้อรับวัฒนธรรมมาจากไทยภาคกลาง เพราะเห็นว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนไทยที่คนทั่วไปรับประทานได้ โดยนำมาประยุกต์สร้างสรรค์ให้เข้ากับวัฒนธรรมไตลื้อ ที่เน้นการใส่น้ำซอสมะขาม น้ำปลา และใส่ถั่วฝักยาวที่มีอยู่มากมายในหมู่บ้าน

“โสะบะก้วยเต้ดลื้อ” คือ ตำมะละกอของคนไตลื้อนั่นเอง เน้นการใส่พริกแห้งคั่ว ถั่วดินคั่ว ขิงสด น้ำมะขาม ปลาร้า และน้ำอ้อย เวลารับประทานนำใบผักแค และต้นตูนมาเป็นผักกับ

“ข้าวแคบ” มีลักษณะเหมือนข้าวเกรียบ แต่บางกว่า มีรสเค็มไม่มาก ข้าวแคบนิยมทำกันในฤดูหนาว แต่ในปัจจุบันสามารถทำได้ทุกฤดู แต่ต้องมีแสงแดดเพียงพอที่จะตากข้าวแคบให้แห้งได้ ข้าวแคบจะรับประทานได้ทั้งแบบทอดหรือปิ้งไฟก็ได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมสามารถลงมือทำข้าวแคบ และหาซื้อเป็นของฝากกลับบ้านได้
และ “ขนมวง” เป็นขนมที่ทำด้วยแป้งเป็นรูปวงกลมแบบเดียวกับโดนัท มีน้ำอ้อยหยอดไปโดยรอบตามกึ่งกลางด้านบน ปัจจุบันไม่ค่อยมีขายในท้องตลาดในเมือง แต่มักจะพบในตลาดแถวชานเมือง และบ้านลวงเหนือแห่งนี้
สนใจลิ้มรสความอร่อยในแบบฉบับไตลื้อก็ลองแวะมาลิ้มรสกันได้ ณ บ้านลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นะครับ วันนี้ขอลาไปก่อน “อยู่ดี กินหวาน” ครับ

ขุน ราตรี
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น