ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฤาจะเป็นเพียง “น้ำนิ่งในหนอง”

DSC_7807 DSC_7818คำว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ดูเหมือนว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากที่สุดในห้วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังถดถอย หลายฝ่ายเริ่มหันกลับมามองความเป็น “ตัวตน” มากขึ้นหลังจากที่หลงไหลในกระแสของต่างชาติมานานเสียจนการหวนกลับคืนมามองความเป็นตัวเองในครั้งนี้อาจเป็นการคิด “คำนวณ” มากกว่าการคิด “คำนึง” คิดคำนวณที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำจะต้อง “ได้” อะไรเป็นการตอบแทนคืนมา โดยละเลยหรือมองข้ามบางสิ่งที่ควรคำนึง

นักวิชาการทั่วไปอาจมองว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” เป็นเรื่องหยุดนิ่งเช่นมองวัสดุสิ่งของซึ่งผลิตขึ้นโดยชาวบ้าน อาทิ ตะกร้า กระบุง ผ้าทอ ฯลฯ ว่าเป็นผลผลิตของภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือบางทีอาจไม่ใช่สิ่งของแต่อาจเป็นพิธีกรรมความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติตามกันมาว่าล้วนมีจุดมุ่งหมายทางสังคมหรือจิตวิญญาณอยู่ในนั้นทั้งสิ้นและด้วยเหตุดังนั้นจึงเป็นภูมิปัญญา ขณะที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กลับมองว่าภูมิปัญญาไม่น่าจะหมายถึงผลผลิตที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาจากความรู้ของเขา แต่น่าจะหมายถึงความสามารถในการคิดแก้ปัญหาชีวิตต่างหากที่ควรถือเป็นภูมิปัญญา

“ถ้าหากว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง ก็แปลว่าบัดนี้ท้องถิ่นไม่มีภูมิปัญญาเหลืออยู่แล้ว ผลผลิตของภูมิปัญญาเหล่านี้จึงมีที่เหลืออยู่แห่งเดียวได้แก่ พิพิธภัณฑ์และศูนย์วัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย..”

เอกวิทย์ ณ ถลาง ในฐานะที่ปรึกษาของชุมชนคนรักป่าและประธานมูลนิธิภูมิปัญญากล่าวถึง “ภูมิปัญญา” ว่าเป็นความรู้ ความคิด ความเชื่อ ความสามารถ ความจัดเจนที่กลุ่มชนได้จากประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ในการปรับตัวและดำรงชีพในระบบนิเวศ นอกจากนั้นภูมิปัญญายังเป็นความรู้ ความคิด ความเชื่อที่เป็นผลมาจากการใช้สติปัญญาปรับตัวกับสภาพต่างๆในพื้นที่ที่กลุ่มชนนั้นตั้งหลักแหล่งอยู่ ขณะที่สามารถ จันทร์สูรย์ได้ให้นิยามคำว่า “ภูมิปัญญา” คือทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดได้เองและนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเป็นสติปัญญา เป็นองค์ความรู้ทั้งหมดของชาวบ้านทั้งกว้าง ทั้งลึกที่ชาวบ้านสามารถคิดเอง ทำเอง โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่แก้ปัญหาการดำเนินวิถีชีวิตในท้องถิ่นอย่างสมสมัย

ดังนั้นหากจะกล่าวว่าภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่ชุมชนต่างๆได้มีการสืบทอดต่อเนื่องมาจากอดีตจวบจนปัจจุบันนั้น เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาสังคมให้มีความยั่งยืน กระทั่งภูมิปัญญานี้อยู่ใกล้ตัวเรามากเสียจนมองเกือบไม่เห็น หากไม่มีเวลานึกถึงก็ยิ่งมองไม่เห็นเลย ยิ่งในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ ยุคแห่งข่าวสารข้อมูลที่นับวันโลกยิ่งไร้พรมแดนการแสวัฒนธรรมจากต่างถิ่นไหลเข้ามากลืนกินความเป็น “ตัวตน” ของเรามากยิ่งขึ้นเท่าใด การโหยหาความรู้แห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นก็มากขึ้นเท่านั้น

วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่าหลายอย่างได้สูญหายหลงลืมไปจากความทรงจำแล้ว โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ที่คล้อยตามไปกับกระแสแห่งสังคมภายนอก ไม่ได้มีการสืบทอดความรู้ภูมิปัญญาจากผู้รู้เลยแม้แต่น้อย
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา นักเขียน กลุ่มศิลปินและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะให้คนทุกกลุ่มได้มีการสืบทอดวัฒนธรรมภูมิปัญญาอันจะเป็นฐานสำคัญในการส่วนร่วมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในอนาคต การพัฒนาที่จะยั่งยืนต้องอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวบ้าน

“เราจะสามารถแปลงเรื่องศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาให้เป็นเรื่องง่ายๆให้คนสามารถเห็นและเข้าใจได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้เมื่อมีคนพูดถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน หลายคนมองภาพไม่ออกว่ามีรูปร่างอย่างไร มันเป็นเรื่องของรูปธรรมที่จับต้องไม่ได้” ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้บริหารโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาเกริ่นนำก่อนที่จะกล่าวต่อว่า

“เมื่อถามว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นคืออะไร คงต้องเริ่มจากเรื่องง่ายๆคือปัจจัย 4 อาหาร ยา รักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะสามารถทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ เมื่อชุมชนมีการพึ่งพาตนเองได้มีการดำรงชีวิตตามวิถี พวกเขาก็จะมีการผสมผสานดัดแปลงหาวิธีต่างๆมาใช้ในชีวิตประจำวัน นี่แหละคือภูมิปัญญาของท้องถิ่น”

ในบทความพิเศษเรื่องสืบสาน ชีวิต ภูมิปัญญา ซึ่งเขียนโดยพ่อคำดีในนิตยสารสานใจคนรักป่า ได้กล่าวถึงภูมิปัญญาไว้อย่างน่าอัศจรรย์ใจว่า

“ภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา สืบเนื่องยาวนานหลายชั่วอายุคนจนยากที่จะเดินตามหาจุดเริ่ม เมื่อเข้ามาอยู่ในโอบกอดแอ่งอารยธรรม สัมผัสอุ่นไอได้เพียงกระผีกลิ้น

เวลาของชีวิตหนึ่งๆเป็นเสี้ยวเวลาอันสั้น
การเดินทางผ่านจากชีวิตหนึ่งไปสู่ชีวิตหนึ่งครั้งแล้วครั้งเล่าหลายชั่วอายุคน การเดินทางย้ำเหยียบบนผืนดิน ขึ้นสู่ดอยสูง ผ่าทวนสายน้ำ ในดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล

ดอยสูง แมกไม้ สายน้ำ ผืนดิน วิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายกลุ่มบนแผ่นดินล้านนา เป็นเบ้าหลอมแหล่งบ่มเพาะให้เกิดการเรียนรู้ ต่อเติมสร้างสรรค์ ลองผิดลองถูก สั่งสมทีละเล็กทีละน้อยในชีวิตด้วยศรัทธาความเชื่อ จินตนาการด้วยมันสมองและสองมือน้อยที่มีอยู่ บุกเบิกถากถางผืนดินทำกิน ร่วมกันสร้างบ้านแปงเมือง หลีกลี้ร่องพายุโหมกระหน่ำบ้านเรือน หลบหลีกสายน้ำหลั่งท่วมท้น

ปลูก เพาะ เลี้ยง พืชพันธุ์ สัตว์น้อยใหญ่ได้เลี้ยงชีพ เก็บหาต้นยามาต้มกิน ฝนทาเอาประคบอบนวด ทอเส้นฝ้ายลวดลายจก ยกลายสี สร้างสีสัน แต่งแต้มเรื่องราววิถีคนบนผืนผ้า บีบกำดินหนา นวดจับดึงรูปทรง แผดเผาไฟกล้าจนแข็งแกร่ง

แกะสลักควักล้วงตอกลอกลายจากใจลงบนแผ่นไม้ ลอกปลอก ต้ม ทุบ แตะ ค้อนเปลือกปอสามาใช้กัน สอดเส้นไม้ลายดอกออกจากจินตนาการ สารพัดสารพันที่สรรสร้างให้ชีวิตดำเนินไป นับแต่ลืมตาดูโลกตราบจนหมดลมหลายใจ
เราเรียกกันว่า “ภูมิปัญญา”

การดำรงอยู่ของภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากการสืบสานของภูมิปัญญาดั่งเดิมแล้วการเปิดรับสิ่งใหม่ๆที่ดี เข้ามาเติมต่อกับภูมิปัญญาเก่าก็นับเป็นการสืบต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นและสืบสานลมหายใจของแผ่นดิน สอดคล้องกับคติธรรมของพระเดชพระคุณเจ้าพระธรรมดิลก คือ “ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่” ที่ว่าไม่หลงของเก่าหมายความว่า อดีตที่ผ่านมาบางสิ่งอาจไม่เหมาะสมกับกาลสมัย เช่น ภาษา การแต่งกาย อาหารรวมทั้งประเพณีต่างๆ จึงต้องมีการปรับประยุกต์ของเก่า
“คือเรามีของเก่าแต่ไม่ถึงกับหลง ขณะเดียวกันก็ไม่เมาของใหม่”

“ภูมิปัญญาท้องถิ่นก็เปรียบเสมือนน้ำที่อยู่ในหนอง ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการไหลเวียนน้ำนั้นก็จะเน่าเสีย แต่ถ้าหากมีน้ำใหม่ไหลเข้ามาเปลี่ยนน้ำเก่าก็จะเกิดการเคลื่อนไหวไหลเวียนไปในที่ต่างๆ ผู้คนก็จะได้ใช้น้ำนั้นตั้งแต่ต้นสายยันปลายสาย”

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปราชญ์สยามและเสาเอกทางปัญญาของล้านนากล่าวว่า การอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาเฉพาะรูปแบบ เช่นการนุ่งซิ่น เล่นซึง ขับซอ ซึ่งบางคนเรียกว่าวัฒนธรรมกระแสโรแมนติก อาจเป็นเพียงรูปแบบที่ขาดจิตวิญญาณขาดความรู้ทางวัฒนธรรม

“ความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของล้านนา จึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่วัตถุหรือการแต่งกาย แต่อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในทางจิตวิญญาณ ความรู้ทางภูมิปัญญาจะเกิดขึ้นได้ต้องให้โอกาสท้องถิ่นจัดระบบการศึกษาาของตนเองเพื่อให้เกิดทักษะในการจัดการทรัพยากรอย่างชาญฉลาดมีหลักการ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและทรัพยากรบุคคล เช่นที่บรรพบุรุษกระทำสืบกันมานับร้อยนับพันปี”

ฉะนั้นมองจากแง่นี้เราจะเห็นว่า กระบวนการสืบทอดภูมิปัญญานั้นจะต้องมีการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาดั่งเดิมกับแนวคิดใหม่ของสังคมเมื่อที่เลือก “เอา” แต่ส่วนที่ดีมาใช้ มากกว่าการรับเอามาอย่างเพียวๆ เพราะบางทีหลายสิ่งหลายอย่างในอดีตอาจไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ดังนั้นภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่มาจากประสบการณ์ของคนในท้องถิ่นที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งกาย ใจ สังคมและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการคิดแก้ปัญหาให้กับชีวิต.

จักรพงษ์ คำบุญเรืองเชียงใหม่น
[email protected].

ร่วมแสดงความคิดเห็น