“ดำหัว” มิติที่เปลี่ยนไป

DSC_2710 “หากจะไปเที่ยวสงกรานต์ให้สนุกต้องไปเที่ยวทางภาคเหนือ” เป็นคำกล่าวขานของคนภาคอื่น ๆ มานานแล้วนับถึงปัจจุบัน (และคงรวมถึงชาวต่างประเทศด้วย) ฉะนั้นจึงเห็นมีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นทั่วสารทิศมาเที่ยวเพื่อสัมผัสบรรยากาศสงกรานต์ (การสาดน้ำชุ่มฉ่ำกันด้วยรอยยิ้ม ด้วยความสนุกสนานภายใต้อากาศร้อนระอุในเดือนเมษายน) ของชาวล้านนา ปีหนึ่ง ๆ มีจำนวนมากมาย

ในประเพณีสงกรานต์จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญของเมือง (วันสังขารล่อง – 13 เมษายน) การขนทรายเข้าวัด (วันเนาว์ – 14 เมษายน) ตลอดจนประเพณีดำหัว (หลังวันที่ 15 เมษายน) ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีสงกรานต์ล้านนา ได้ถูกนำมาเสนอให้คนต่างถิ่นได้ชมได้เห็น เพื่อจะได้สัมผัสและเข้าใจในวัฒนธรรมถิ่นล้านนา
ต่อมาประเพณีสงกรานต์ได้ถูกนำไปดำเนินการในต่างถิ่นโดยคนล้านนาที่อยู่ต่างถิ่นและไม่ได้กลับภูมิลำเนาในปีนั้นบ้าง หรือที่หนักกว่านั้นถูกลอกเลียนนำไปปฏิบัติโดย “คนต่างถิ่น” ที่ไม่เข้าใจในประเพณีสงกรานต์ของชาวล้านนาอย่างลึกซึ้ง จนบางแห่งจะเห็นมีการสาดน้ำและปะแป้งให้กันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีการดำหัวถูกนำไปใช้ทั่วประเทศแล้ว

แต่ละปีจะเห็นมีการรณรงค์ของชาวล้านนาที่จะไม่ใช้การรดน้ำที่มือ (เพราะชาวล้านนาถือว่าเหมือนการรดน้ำศพ) ซึ่งตามประเพณีล้านนาจะเอามือแตะจุ่มที่น้ำขมิ้นส้มป่อยเอง แล้วเอามาแตะมาลูบที่ศรีษะเป็นอันเสร็จพิธี

อย่างไรก็ตาม ประเพณีการดำหัวในอดีตของชาวล้านนา ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานโดยหมอแดเนียล แมคกิลวารี ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลแม็คคอมิคเชียงใหม่ ที่เคยเข้าไปอยู่ร่วมในประเพณีการดำหัวเจ้าหลวงกาวิโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ หลังสงกรานต์ของปีหนึ่งที่ประกอบพิธีดำหัวช้ากว่าปกติ เพาะเจ้าหลวงเพิ่งกลับมาจากการปราบกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ (พ.ศ.2445)

ในบันทึกของหมอแม็คฯ กล่าวว่าหลังจากที่เจ้าหลวงให้พรเสร็จ ก็มานั่งที่โถงท้องพระโรง แล้วมีเจ้านายฝ่ายเหนือที่มาดำหัวเอาถังน้ำขมิ้นส้มป่อยเทราดลงบนหัวของเจ้าหลวงเลย

ซึ่งสอดคล้องกับกรณีผู้เขียน ที่เคยอยู่ร่วมในการดำหัวของทวดผู้เขียนเอง เมื่อตอนเป็นเด็ก (ราวปี พ.ศ.2500 กว่าต้น ๆ) คือเมื่อทวดให้พรเสร็จก็จะถอดเสื้อมานั่งที่ชานบ้านแล้วผู้ที่มาดำหัวจะเอาน้ำขมิ้นส้มป่อยรดที่บ่าของทวดทุกคน (เหมือนการอาบน้ำให้) ซึ่งอาจแตกต่างไปจากที่หมอแม็คฯบันทึกไว้

DSC_2711
จนถึง พ.ศ.นี้มีหลายชุมชน หลายชมรมผู้สูงอายุในท้องถิ่นหรือในองค์กรส่วนท้องถิ่น พยายามที่จะใช้การดำหัวประกอบพิธีดำหัวให้ผู้สูงอายุ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าท้องถิ่นได้มีความสนใจต่อผู้สูงอายุที่เรียกว่า “วันกตัญญู” โดยนำผู้สูงอายุในชุมชนมารวมกันที่ใดที่หนึ่ง แล้วจะประกอบพิธีดำหัวรวมกันหมดทั้งชุมชนในคราวเดียว โดยนัยแล้วก็เพื่อความสะดวกขององค์กรจัดมากกว่าความสะดวกของผู้เฒ่าผู้แก่ แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ บางกลุ่มมีการจัดงานดำหัวหมู่ (วันผู้สูงอายุ) ก่อนวันที่ 15 ซึ่งเป็นวันพญาวัน (เถลิงศก) จนคนเฒ่าคนแก่บ่นว่าจะให้พรตามประเพณีว่า “..ปี๋เก่าก็ล่วงป้นไปแล้ว ปี๋ใหม่แก้วพญาวันก็มาฮอดมาเติง…” ไม่เต็มปาก เพราะยังไม่ถึงเวลาวันพญาวันทำให้เสียฮีตฮอยไปด้วยความตื้นเขิน

พวกเขาคงไม่ทราบว่า ด้วยความมักง่ายพวกเขาได้ทำลายคุณค่าที่แท้จริงของการดำหัว (อภัยทาน) ของชาวล้านนาไปแล้ว

ผู้เฒ่าผู้แก่จะมีความภูมิใจมากกว่า ที่อยากจะเห็นผู้ที่นับถือในคุณงามความดีของตนมาเยี่ยมถึงเรือนชาน เพื่อมาสูมาคารวะและขอพร คนเฒ่าคนแก่ก็คงจะพิจารณาให้ศีลให้พรแต่ละคนไปตามความเหมาะสม เมื่อเสร็จพิธีก็จะชักชวนให้กินขนมข้าวต้มที่ผู้เฒ่าผู้แก่คอยเตรียมจัดหาไว้เลี้ยงดูลูกหลานที่มาดำหัว

ท่านทั้งหลายที่เป็นคนเมืองล้านนา ลองพิจารณาดูซิว่าท่านอยากจะให้คนเฒ่าคนแก่ไปรอที่ อบต.หรือเทศบาล หรืออำเภอดี เพื่อคอยคนมาดำหัวหรือว่าเราไม่ต้องให้คนเฒ่าคนแก่ไปรอเราที่ไหน ให้รออยู่ที่บ้านนั่นแหละ แล้วลูกหลานจะไปแอ่วหา ไปดำหัวที่บ้าน ซึ่งเสมือนเป็นบ้านของลูกหลานเองด้วย ความอบอุ่นและปิติยินดีทั้งสองฝ่าย

จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น