กระทรวงอุตฯขึ้นภาคเหนือ ลุยสะสางปมทุจริตคอรัปชั่น

อาทิตย์ วุฒิคะโร
อาทิตย์ วุฒิคะโร

กระทรวงอุตสาหกรรม ลุยลงพื้นที่ตรวจงานอุตสาหกรรมจังหวัด เริ่มที่ภาคเหนือขึ้นเชียงใหม่เป็นแห่งแรก มุ่งกลุ่มเป้าไปที่อุตสาหกรรมจังหวัดและเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรม 13 จังหวัดภาคเหนือ ด้านปลัดกระทรวงอุตฯมอบนโยบายของกระทรวง เน้นแก้ปัญหาผู้ประกอบการแบบเร่งด่วน ลุยสะสางปัญหาด้านทุจริตคอรัปชั่น ตั้งเป้าเลื่อนลำดับด้านความโปร่งใสของประเทศให้สูงขึ้น

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สอจ.การเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์เชียงใหม่

ทั้งนี้ นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อเร่งรัดการทำงานของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) เนื่องจากในช่วงหกเดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.2558 – มี.ค.2559) ได้มอบหมายงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลให้ สอจ. ร่วมขับเคลื่อน ทั้งนี้ได้กำหนดแผนการตรวจเยี่ยมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง สอจ. การเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย 4 ครั้งใน 4 ภูมิภาค โดยมีการหารือระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อหาแนวทางที่ดีและเหมาะสมในการทำงานของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดให้เป็นที่ยอมรับและพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและของกระทรวงอุตสากรรม

นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ครั้งที่ 1 ของภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 24 – 25 เม.ย.59 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคืออุตสาหกรรมจังหวัดและเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรม 13 จังหวัด ภาคเหนือ ครั้งที่ 2 จะเป็นวันที่ 10-11 พ.ค.59 ที่กรุงเทพฯ กลุ่มเป้าหมาย 25 จังหวัด ภาคกลาง ครั้งที่ 3 วันที่ 16 – 17 พ.ค.59 ที่จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มเป้าหมาย 24 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และครั้งที่ 4 วันที่ 2-3 มิ.ย.59 ที่จังหวัดสงขลา กลุ่มเป้าหมาย 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งการตรวจติดตามงานทั้ง 4 ครั้งนี้ จะเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการที่ให้ สอจ. ช่วยดำเนินงาน เช่น การปรับแผนธุรกิจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (เทิร์นอะราวด์) ภาคการผลิต 7,000 ราย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาจากผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว การเร่งรัดในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการตั้งขยายโรงงาน (ร.ง.4) ให้เปิดดำเนินการโดยเร็วเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้และจ้างงานในท้องถิ่นทั่วประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางให้มีการตั้งโรงงานแปรรูปยาง ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้ขายวัตถุดิบได้มากขึ้น การเร่งรัดภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบ เพื่อไม่ให้มีการลักลอบไปทิ้งในที่สาธารณะ และเกิดผลกระทบต่อชุมชน การเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากกิจการโรงงานเหมืองแร่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้รับข้อร้องเรียนบ่อยครั้งจากสังคมและชุมชน ความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการตรวจโรงงานที่ใช้วัตถุดิบจากการประมงซึ่งปฏิบัติไม่ถูกต้องในการใช้แรงงานเถื่อน และโครงการนำน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตที่ได้รับการบำบัดนำมาใช้สนับสนุนภาคเกษตรกรรม เพื่อใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง
แม้จะมีการประสานงานของ สอจ. และกระทรวง แต่ก็ยังมีปัญหาการร้องเรียนเข้ามาอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการกำกับ ดูแลผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมจากโรงงานและสถานประกอบการเหมืองแร่ อีกทั้งยังมีการเรียกรับผลประโยชน์ในพื้นที่ โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดอ่อน ยังเป็นปัญหาและยังมีข้อครหา เพื่อให้มีการปฏิบัติของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในทุกจังหวัดมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีธรรมาภิบาลและได้รับการยอมรับจากสังคม ทั้งนี้เป้าหมายในการขับเคลื่อนของกระทรวงฯคือ ให้ลำดับในด้านการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสของประเทศอยู่ในลำดับที่ดีขึ้น นอกจากนี้ในด้านของโรงงารอุตสาหกรรม ทั้งการขยายและสร้างใหม่ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียว ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ด้าน นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวง อุตสาหกรรม กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ได้มารับทราบถึงนโนบายของทางกระทรวงอุตสาหกรรมจากท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในวันนี้ ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ทั้งทัศนคติ วิธีการทำงาน เพื่อที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทำให้เกิดการสนับสนุนต่อนโยบายของกระทรวงฯและการทำงานของรัฐบาล ซึ่งต้องยอมรับว่าการปฏิรูปประเทศนั้นงานในด้านเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญด้วย และทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งทำหน้าที่เป็น 2 ส่วนคือ เป็นผู้ส่งเสริม/สนับสนุน และเป็นผู้กำกับดูแล หากผู้ปฏิบัติยังปรับตัวไม่ทันกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต การดำเนินงานก็จะมีอุปสรรค ซึ่งในโครงการนี้ได้มุ่งเป้าไปที่ตัวบุคลากรเป็นหลักก่อน

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยในการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้นั้นก็คือ การทำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งในเรื่องของการติดต่อสื่อสาร การประสานงานต่างๆ ทำให้การทำงานมีความรวดเร็วมากขึ้น อย่างผู้แทนของทางกระทรวงอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เช่น ทางอุตสาหกรรมจังหวัด หรือ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ที่มีเรื่องของโครงการ BSC ที่คอยให้คำปรึกษาต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ภายในงานดังกล่าวยังได้มีการลงนาม ประกาศเจตจำนงของ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อการเปลี่ยนที่ท้าท้ายอีกด้วย นางสาวนิสากร กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น