แม่แจ่ม…วิถีชีวิตในอ้อมกอดของขุนเขา

DSC_0073 พื้นที่ราบอันกว้างใหญ่ในท่ามกลางโอบอ้อมของขุนเขาแห่งอำเภอแม่แจ่ม เป็นพื้นที่อาศัยของชุมชนไทยวนกลุ่มใหญ่ที่สุดในดินแดนล้านนาที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของพวกเขาเอาไว้เป็นอย่างดี ถนนหนทางคดเคี้ยวขึ้นลงภูเขาสูง คือปราการปกป้องอย่างดีสำหรับความเปลี่ยนแปลงจากสังคมเมือง

หากย้อนหลังไปเมื่อ 30 ปีก่อน เมืองแม่แจ่มถูกปิดกั้นจากสังคมภายนอกอย่างสิ้นเชิง จนกระทั่งได้มีการเกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกันทำถนนสายแรกที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรระหว่างคนแม่แจ่มกับสังคมภายนอกก็คือ ถนนสายแม่แจ่ม – ฮอด – แม่สะเรียง ระยะทางกว่า 45 กิโลเมตร ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวแม่แจ่มจะใช้ทางเดินจากดอยผ้าขาวทะลุผ่านแม่หลุ จนไปถึงอำเภอจอมทอง ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึง 2 วันเต็ม หลังการมาของถนนสายสำคัญทำให้เมืองแห่งปริศนานี้ถูกเปิดสู่โลกภายนอก

DSC_0048

มีเรื่องเล่าจากตำนานถึงเมืองแม่แจ่มย้อนหลังไปหลายพันปีว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ากับพระมหากัจจายนะได้จาริกผ่านมาทางที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่ม พระองค์ได้พบกับสิงห์สองพี่น้องต่อสู้กัน พระพุทธเจ้าจึงได้บอกให้หยุดแล้วไต่ถามได้ความว่า ทั้งสองต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครองในพื้นที่นี้ เมื่อได้ความเช่นนั้น จึงเป็นผู้แบ่งพื้นที่ปกครองให้ โดยถามพ่อค้าที่ผ่านมาทางนั้น ว่าขุนน้ำกับสบน้ำของแม่น้ำนี้ครึ่งกันตรงไหน พ่อค้าบอกว่า ครึ่งกันตรงนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงเอาไม้เท้าขีดเป็นรอย แล้วตัดสินให้สิงห์ผู้พี่ปกครองเขตเหนือ สิงห์ผู้น้องปกครองเขตใต้
ต่อมารอยขีดนั้นได้กลายเป็นลำห้วย มีชื่อเรียกว่า ห้วยชั่งเคิ่ง ซึ่งหมายถึงแม่น้ำแม่แจ่มแบ่งครึ่งกันตรงนั้น ต่อมามีการเรียกเพี้ยนมาเป็น ห้วยช่างเคิ่ง

เช้าวันต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ มีย่าเฒ่าชาวลัวะคนหนึ่งนำปลาปิ้งครึ่งตัวมาใส่บาตร พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามย่าเฒ่าว่า ปลาอีกครึ่งตัวหายไปไหน ย่าเฒ่าบอกว่า เก็บไว้ให้หลาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสต่ออีกว่า “บ้านนี้เมืองนี้มันแจม แต๊นอ” คำว่า “แจม” เป็นภาษาลัวะแปลว่า มีน้อย ไม่พอหรือขาดแคลน ต่อมาดินแดนนี้จึงมีชื่อว่า “เมืองแจม” เมื่อชาวไตอพยพเข้ามาอยู่จึงเรียกชื่อตามสำเนียงไตว่า “เมืองแจ๋ม” และเพี้ยนเป็นเมืองแจ่มและแม่แจ่มต่อมาDSC_0080

ชนเผ่าดั่งเดิมที่อาศัยอยู่ในเมืองแจ่มนี้ก็คือ ชาวลัวะหรือ ละว้า ซึ่งนับได้กว่า 2,600 ปี สิงห์ที่เล่ากันในตำนานก็คงเป็นผู้นำแห่งชาวลัวะนั่นเอง และต่อมาชาวลัวะก็ได้สืบต่อันมาอีกนาน สร้างวัฒนธรรมของตนจนรุ่งเรือง เพียงแต่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน เพราะเป็นชุมชนหรือสังคมเกษตรกรรม มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย

สมัยต่อมาอำนาจของลัวะเริ่มหมดไปเมื่อมีกลุ่มชนชาวไทยวน หรือชาวไตอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่มากขึ้นและยึดอำนาจจากลัวะได้ในสมัยพระยามังรายซึ่งมีเชื้อสายลัวะเหมือนกัน บรรพบุรุษของคนเมืองที่อยู่ในเมืองแจ่มปัจจุบันคงอพยพเข้ามาหลายครั้งด้วยกัน ตั้งแต่เมื่อลัวะเรืองอำนาจ ถูกพวกลัวะข่มเหง ซึ่งมีคำกล่าวไว้ว่า “ลัวะหิง(ผิงไฟ ไตหิง(ผิง)ขี้เถ้า” คือหน้าหนาวคนไตก่อไฟผิง พอไฟติดลัวะก็มาไล่ให้ไปก่อไฟที่อื่นใหม่ พอไฟกองใหม่ติดไปกองเก่าเริ่มวอด ลัวะก็มาไล่ไปอีก คนไตก็ต้องไปผิงขี้เถ้ากองไฟเก่าของลัวะ ส่วนคำว่า “ลัวะป๋งไห ไตป๋งหม้อ” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่แสดงถึงการมีอำนาจของลัวะ ที่คนไตเป็นคนนึ่งข้าวของตนเพื่อจะกิน พอข้าวสุกได้ที่ก็มีลัวะมาปลดเอาข้าวไปกิน คนไตก็ได้แต่ปลดหม้อนึ่งลงเตา

คนเมืองที่อาศัยอยู่ในแม่แจ่มในรอบสองร้อยปีมานี้ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ หนึ่งคนที่ย้ายมาอยู่แต่เดิมสมัยลัวะเรืองอำนาจและต่อสู้กับลัวะ ดังตำนาน ปู่เส็ดค่ำลัวะ หินไล่ลัวะ อบบลัวะวาย คนกลุ่มนี้มีชนเผ่าปกาญอ หรือยางและมอญอยู่ด้วย ซึ่งสองกลุ่มหลังคงเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีอำนาจอะไร บางกลุ่มก็ถูกกลืนไปในที่สุดเช่น มอญ แต่เผ่ากะเหรี่ยงยังคงรักษาความเป็นชนเผ่าของตนได้อย่างเหนียวแน่น อีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกแสวงหาที่ทำกิน จึงอพยพแสวงหาที่ดินที่อุดมสมบูรณ์กว่า บางครั้งแม่แจ่มก็เป็นแค่ทางผ่าน กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามา เช่นกลุ่มไตลื้อ
ในสมัยของพระเจ้ากาวิละ แม่แจ่มมีความสัมพันธ์กับเมืองเชียงใหม่มาโดยตลอด บางยุคสมัยก็มีเจ้าเมืองปกครองมีบรรดาศักดิ์เป็นถึงเจ้าพระยา เช่น พระยาเขื่อนแก้ว(ผู้สร้างวัดป่าแดด) พระยาไจย ซึ่งเป็นเขยของพระยาเขื่อนแก้ว (ต้นตระกูลไชยบุตรหรือชัยบุตร คือบุตรพระยาไชย) ซึ่งเป็นเจ้าสององค์สุดท้าย (คุ้มเจ้าเมืองทั้งสองนี้อยู่ที่บ้านอารามในปัจจุบัน) หลังจากนั้นแม่แจ่มก็ถูกปกครองโดยกรุงเทพฯอย่างสมบูรณ์ ทางการได้ย้ายศาล (อำเภอ) ไปสร้างที่ว่าการอำเภอแม่แจ่มในปัจจุบัน โดยเป็นอำเภอช่างเคิ่ง มีนายอำเภอปกครองที่ส่งมาจากส่วนกลาง มีคนเมืองแจ่มเป็นกำนัน มียศเป็นท้าวและขุน จากนั้นเป็นกิ่งอำเภอแม่แจ่มขึ้นกับอำเภอจอมทองระยะหนึ่งแล้วจึงยกฐานะเป็นอำเภอแม่แจ่มในที่สุด

DSC_0037

แม่แจ่มได้ชื่อว่าเป็นเมืองในอ้อมกอดของขุนเขา การเดินทางเข้าไปยังเมืองนี้จะต้องผ่านถนนที่คดเคี้ยวไปตามสันเขา ด้วยที่แม่แจ่มเป็นเมืองน่ารักเงียบสงบ ทั้งยังรักษารูปแบบประเพณีและวัฒนธรรมที่ดั่งเดิมของกลุ่มชนเอาไว้ ดังนั้นนักท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศและในประเทศต่างมุ่งหน้าสู่เมืองแม่แจ่มอยู่อย่างไม่ขาดสาย ความสวยงามของทิวทัศน์ตลอดสองข้างทางจะเป็นป่าเขามีการทำนาขั้นบันได โดยอาศัยระบบเหมืองฝายที่ให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าทึ่ง

วัฒนธรรมของคนแม่แจ่มได้รับการกล่าวขานถึงมากพอ ๆ กับผ้าซิ่นตีนจก เนื่องจากการดำรงอยู่ของกลุ่มคนหลากหลายกลุ่ม จึงทำให้วัฒนธรรมของคนแม่แจ่มผสมผสานกลมกลืนกัน ดังปรากฏได้จากศิลปวัฒนธรรมของวัดต่าง ๆ เช่น วัดยางหลวง เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอแม่แจ่ม ความสวยงามของวัดนี้อยู่ที่อุโบสถ นอกจากนั้นที่วัดพุทธเอ้นมีอุโบสถกลางน้ำที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือว่าเป็นอุโบสถกลางน้ำที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
เมืองแม่แจ่มเป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องการทอผ้า โดยเฉพาะผ้าซิ่นทอมือนั้นนับเป็นศิลปกรรมชั้นยอดของสตรีชาวแม่แจ่ม ส่วนงานก่อสร้างบ้านกับงานทำนานั้นเป็นงานของผู้ชาย เมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว หญิงชาวแม่แจ่มก็จะอยู่กับหูกกับฝ้ายทำเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งถือเป็นงานฝีมือหลังฤดูทำนา ว่ากันว่าผ้าทอของหญิงชาวแม่แจ่มนั้นเป็นงานฝีมือชั้นเลิศที่ผสมผสานลวดลายจนเป็นเอกลักษณ์ ผ้าซิ่นของแม่แจ่มนั้นจึงมิใช่เพียงผืนผ้าที่ทอขึ้นสำหรับนุ่งหรือเพื่อความสวยงามเท่านั้น หากแต่คือสิ่งพิเศษที่ผูกพันกับผู้หญิงแม่แจ่มตลอดทั้งชีวิต

แม้ว่าปัจจุบันการเดินทางไปยังแม่แจ่มจะสะดวกสบายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ผู้คนในเมืองนี้เริ่มที่จะเดินทางออกสู่สังคมภายนอก แต่วัฒนธรรมและวิชีวิตดั่งเดิมของพวกเขายังคงได้รับการรักษาและสืบต่ออันเป็นการแสดงออกถึงภูมิปัญญาความสามารถและภูมิธรรมของคนแม่แจ่มในอดีตเป็นอย่างดี
แม่แจ่มในวันนี้ยังคงมีมนต์เสน่ห์ซ้อนเร้นอยู่ในดินแดนอันร่มเย็นเบื้องหลังภูเขา แม้ว่าปัจจุบันการเดินทางเข้าไปแม่แจ่มจะสะดวกมากขึ้น เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เริ่มเข้ามามีส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวแม่แจ่ม แต่กระนั้นชาวแม่แจ่มทุกคนยังคงพอใจกับการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายอยู่เสมอ.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น