สดร. เดินหน้ากระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์

B-6.jpg สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินหน้ามอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้แก่ 100 โรงเรียน ใน 54 จังหวัด พร้อมอบรมการใช้งานกล้องโทรทรรศน์ เผยผลการดำเนินงานปี 58-59 มอบ 160 โรงเรียน 61 จังหวัด มุ่งเดินหน้าให้ครบ 77 จังหวัดภายในปี 2560 หวังนำดาราศาสตร์เข้าถึงเยาวชน และคนไทยทั่วประเทศภายในปี 2560

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ครั้งนี้ เป็นการดำเนินโครงการในปีที่ 2 มีโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือก เข้ารับมอบกล้องและสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ จำนวน 50 โรงเรียน จาก 24 จังหวัด และจะดำเนินการต่อเนื่องอีก 50 โรงเรียน จาก 30 จังหวัด ในเดือนมิถุนายน 2559 ผลการดำเนินงานในปีแรกค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ แต่ละโรงเรียนได้นำอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ฯ ในโครงการไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ภายในโรงเรียนและชุมชน ก่อให้เกิดความตื่นตัวทางดาราศาสตร์ในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกิจกรรมสังเกตการณ์สุริยุปราคาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ แสดงพลังเครือข่ายดาราศาสตร์ นำกล้องโทรทรรศน์ที่ได้รับมาใช้ในการสังเกตการณ์สุริยุปราคาบางส่วน กว่า 100 โรงเรียนทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นบรรยากาศตื่นตัวทางดาราศาสตร์ที่แผ่ไปอย่างกว้างขวาง นักเรียนนับแสนคนร่วมกิจกรรมกันอย่างคึกคัก ต่างตื่นตาตื่นใจที่ได้ร่วมกิจกรรมครั้งสำคัญ สดร. เชื่อว่า บรรยากาศเช่นนี้จะกระตุ้นให้เยาวชนอนาคตของชาติหันมาสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น สนองพระราชปณิธานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยทรงตระหนักถึงคุณค่าของการสร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์โดยการให้นำดาราศาสตร์ เป็นสื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ สนับสนุนส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีกระบวนการคิดเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ รศ.บุญรักษา กล่าวเพิ่มเติม

B-7.jpg

ศาสตราจารย์ ดร. กิตติชัย วัฒนานิกร ประธานกรรมการบริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในฐานะประธานพิธีมอบกล้องและเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้รับทราบว่า ผลการดำเนินงานโครงการในปี 2558 แต่ละโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ได้นำกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ต่าง ๆ ที่ได้รับมอบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งการจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์ในโรงเรียน การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ และขยายผลการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ลงสู่ชุมชนใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในรูปแบบต่าง ๆ

ในโครงการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ตามนโยบายของรัฐบาล กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ของนักเรียนและครู กล้องโทรทรรศน์เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่จะเติมเต็มความอยากรู้อยากเห็น สร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน นำไปสู่การเพิ่มกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ สดร. มุ่งหวังว่าผู้แทนโรงเรียนที่ได้รับมอบอุปกรณ์จะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับในการอบรมครั้งนี้ไปต่อยอดและขยายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้แก่คนรุ่นต่อไปในทุกพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป

B-8.jpg

โครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มีวัตถุประสงค์สนับสนุนสื่อและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ให้กับโรงเรียนและสถานศึกษาทั้งในภาครัฐและเอกชน ให้สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการสอน ส่งเสริมการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์และสร้างความตื่นตัวทางดาราศาสตร์อย่างกว้างขวาง นอกจากการสนับสนุนสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์แล้ว ยังมีการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และฝึกทักษะการใช้กล้องโทรทรรศน์ให้กับโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ

โดยมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และการพัฒนาองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น ในปี 2558 ที่ผ่านมา สดร. ได้ดำเนินการส่งมอบกล้องโทรทรรศน์พร้อมสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ถึงมือครูผู้สอนไปแล้ว 60 โรงเรียน ใน 36 จังหวัด สำหรับปี 2559 สดร. ดำเนินโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 มีโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกรุ่นที่ 1 เข้ารับมอบกล้องและสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ จำนวน 50 โรงเรียน จาก 24 จังหวัด และจะดำเนินการต่อเนื่องในรุ่นที่ 2 อีก 50 โรงเรียน 30 จังหวัด ในเดือนมิถุนายน 2559 สรุปผลการดำเนินงานในปี 2558-2559 เป็น 160 โรงเรียน 61 จังหวัด และจะเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายให้ครบ 77 จังหวัดภายในปี 2560
โรงเรียนที่ได้รับคัดเลือก จะได้รับมอบอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ต่าง ๆ ประกอบด้วย กล้องโทรทรรศน์แบบ
ดอปโซเนียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว ออกแบบ พัฒนา โดยทีมนักวิชาการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และผลิตในประเทศไทย มีต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูงเทียบเท่ากับกล้องโทรทรรศน์ประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ประกอบด้วย ร่มลายแผนที่ดาว โปสเตอร์ชุดความรู้เกี่ยวกับระบบสุริยะ หนังสือความรู้ดาราศาสตร์ โมเดลดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ หลังจากได้รับมอบอุปกรณ์ ผู้แทนโรงเรียนจะได้รับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในภาคบรรยาย ณ สุรสัมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และฝึกปฏิบัติการใช้กล้องโทรทรรศน์ในภาคสังเกตการณ์ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 21-22 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา

ร่วมแสดงความคิดเห็น