“น้ำต้น” งานฝีมือของช่างชาวเงี้ยว

001 ภาชนะที่ใช้ใส่บรรจุน้ำ มีลักษณะอ้วนปุ้มบริเวณคอจะสูงขึ้นไป ด้านข้างจะเขียนลวดลายไว้อย่างสวยงาม คนพื้นเมืองเหนือเรียกภาชนะนี้ว่า “น้ำต้น”

แต่เดิมน้ำต้นถือว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้องอยู่กับวิถีชีวิตของชาวล้านนาเป็นอย่างมาก จนอาจกล่าวได้ว่า น้ำต้นเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวล้านนา น้ำต้นนอกจากจะใช้เป็นภาชนะบรรจุน้ำดื่มแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของภาชนะใส่ดอกไม้ในแท่นบูชาในพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนเป็นเครื่องประกอบยศของเจ้านายชั้นสูงอีกด้วย
น้ำต้นดินเผาที่มีการผลิตเป็นเครื่องใช้อยู่ในดินแดนล้านนานั้น คนเมืองเชียงใหม่ทั่วไปจะเรียกว่า “น้ำต้นเงี้ยว” เป็นเพราะว่ากลุ่มคนที่ทำน้ำต้นเหล่านั้นเป็นชาวเงี้ยวหรือไทยใหญ่ ซึ่งมีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านเหมืองกุง บ้านขุนแส ในเขตอำเภอหางดงและบ้านน้ำต้นในเขตอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

บรรพบุรุษของชาวบ้านในแถบนี้แต่เดิมถูกกวาดต้อนและอพยพมาจากเมืองปุและเมืองสาดในเขตรัฐฉานของพม่า โดยเฉพาะที่บ้านน้ำต้นนั้น ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ถูกกวาดต้อนมาในช่วงสมัยของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 ระหว่างปี พ.ศ.2399 – 2413

จากหลักฐานเอกสารที่พบในช่วงเวลาของการฟื้นฟูล้านนานั้น ได้ปรากฏชื่อของเมืองปุและเมืองสาด ที่ถูกกองทัพของเชียงใหม่ไปตีและกวาดต้อนไพร่พลมาไว้ที่เชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อสมัยของพระเจ้ากาวิละถึง 3 ครั้งและครั้งหลังสุดในสมัยของพระยาพุทธวงศ์ได้ขึ้นไปตีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่อย่างชัดเจนว่า
“ในปีจุลศักราช 1200 นั้น พระยาเชียงใหม่ได้ทราบข่าวว่า เจ้าฟ้าเงี้ยวเมืองนาย แต่งคนมาตั้งอยู่ในแขวงเมืองสาด เมืองต่วน อันเป็นดินแดนแว่นแคว้นเมืองเชียงใหม่ พระยาเชียงใหม่จึงแต่งให้พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาเมืองแก้ว คุมกำลังลี้พลเมืองเชียงใหม่ 5,300 คน เป็นกองทัพหนึ่ง ฝ่ายเมืองลำพูนก็ให้เจ้าอุปราช เจ้าน้อยคำวงศ์ คุมกำลังเมืองลำพูน 900 คน ทัพหนึ่งยกขึ้นไปตีต้อนครัวเงี้ยวไทใหญ่ที่มาตั้งอยู่เมืองปุ เมืองสาด เมืองต่วน นั้นลงมาสิ้น..”

กระทั่งปีศักราช 1201 เจ้าพระยาเชียงใหม่และลำพูนได้มีหนังสือเพื่อกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า การที่ได้กองทัพไปตีเมืองปุ เมืองสาดและเมืองต่วนนั้น ได้ต้อนเชลยชายหญิงมาเป็นจำนวน 1,868 คน ปืน 47 กระบอกรวมทั้งม้าและโคอีกจำนวน 261 ตัว จากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานครัวเชลยและโคม้าไว้สำหรับเมืองเชียงใหม่

005

ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า กลุ่มชาวเงี้ยวที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่บ้านน้ำต้น บ้านมะกายอนในเขตอำเภอสันป่าตอง น่าจะเป็นกลุ่มชาวเงี้ยวรุ่นเดียวกับที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยเจ้าพระยากาวิโรรสสุริยวงศ์ แต่การตรวจสอบทางเอกสารไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่า กลุ่มชาวเงี้ยวในหมู่บ้านเหมืองกุง บ้านขุนแส เขตอำเภอหางดงจะเป็นเงี้ยวกลุ่มเดียวกันหรือไม่ แต่จากหลักฐานแวดล้อมก็ทำให้เชื่อได้ว่า กลุ่มเงี้ยวที่มีความรู้ในการปั้นน้ำต้นนั้น ล้วนเป็นชาวเงี้ยวที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในช่วงเวลาฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ทั้งสิ้น

การผลิตน้ำต้นของชาวเงี้ยวในหมู่บ้านต่าง ๆ ที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้อุณหภูมิในการเผาที่ไม่สูงมากนัก เนื้อดินจะหยาบหนาและมีรูพรุนค่อนข้างมาก ผิวจะมีการทาน้ำดินข้นและขัดผิวให้มันเพื่อกันน้ำซึมออกมา อาจมีการประดับตกแต่งผิวภายนอกภาชนะอย่างสวยงามด้วยลวดลายต่าง ๆ ที่เกิดจาการขูดขีด, แกะลายหรือกดลาย

รูปทรงของน้ำต้นที่พบในล้านนามีมากมายหลายรูปแบบซึ่งแต่ละแหล่งผลิตก็จะมีรายละเอียดทรวดทรงที่ต่างกันไป เท่าที่พบมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 8 รูปแบบ เช่น แบบทรงสูง, แบบคอคอดปากบาน, แบบน้ำต้นแม่วาง(สันป่าตอง), แบบทรงอ้วน, แบบยาวกลีบมะเฟือง, แบบทรงขวดและแบบน้ำเต้า เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์น้ำต้นไม่ใช่เป็นของเครื่องใช้อย่างใหม่ที่เพิ่งเข้ามาสู่ล้านนาพร้อม ๆ กับชาวเงี้ยว แต่เรื่องราวของน้ำต้นนั้นหากว่าได้มีการศึกษาถึงพัฒนาการความเป็นมาและรายละเอียดรูปทรงแล้ว นับว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะน้ำต้นเองก็จัดได้ว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีลวดลายและรูปทรงสวยงาม สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์จองมนุษย์ผู้ผลิตได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้คุณค่าของน้ำต้นจึงไม่ได้อยู่ที่การทำหน้าที่บรรจุน้ำเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีตที่เป็นผู้ทำหน้าที่ผลิตเท่านั้น น้ำต้นยังถือได้ว่าช่วยเพิ่มคุณค่าของงานศิลปกรรมโบราณให้มีฐานะสูงขึ้นอีกด้วย.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น