(มีคลิป) มช. วิกฤตภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำใช้หนัก เหตุปรับเปลี่ยนเปิดการเรียนซัมเมอร์ช่วงฤดูร้อน

https://youtu.be/7psxrpN6FiE

คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มช. แจงปัญหามหาวิทยาลัยประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำใช้หนัก เหตุมาจากการปรับเปลี่ยน เปิดการเรียนซัมเมอร์ช่วงฤดูร้อน มีการใช้น้ำสูงขึ้น ความต้องการน้ำในการอุปโภคและบริโภคไม่เพียงพอ จนต้องออกประกาศของดจ่ายน้ำประปาเป็นบางเวลา ชี้มีผลเสียมากกว่าผลดี วอนที่ประชุมอธิการบดีทบทวนให้กลับมาใช้ระบบเดิม

วันที่ 28 เม.ย.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีปัญหาวิกฤติน้ำที่เกิดขึ้นกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากที่มีการประกาศไปว่าทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่การศึกษาแม่เหียะ ที่มีการงดจ่ายน้ำประปาเป็นบางช่วงเวลา ที่มีปัญหาสืบเนื่องมาจากในพื้นที่แม่เหียะที่มีอ่างเก็บน้ำที่เป็นสถานีวิจัยเกษตรโดยตรง ที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ขอพื้นที่จากกรมป่าไม้ในการใช้พื้นที่ทั้งสิ้นรวม 1,500 ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ.2520 ขอให้ทางกรมชลประทานดำเนินการขุดทำอ่าง ซึ่งในปัจจุบันจากการพัฒนาในด้านต่างๆ ของทางมหาวิทยาลัย ส่งผลให้เกิดการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นนอกเหนือจากการเกษตร ประกอบกับการประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงมากในปีนี้ รวมทั้งทางชลประทานไม่มีน้ำมาเติมกับทางอ่าง จึงได้มีการขอความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยในการงดสูบน้ำจากคลองชลประทานเข้ามาเนื่องจากต้องเฉลี่ยน้ำไปช่วยเหลือตามชุมชนต่างๆ ขณะเดียวกัน เมื่อไม่มีการสูบน้ำจึงส่งผลให้น้ำที่ทางมหาวิทยาลัยทั้ง 9 อ่างมีอยู่นั้นเริ่มขาดแคลน ดังนั้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยกองสวัสดิการ จึงได้มีการขอออกมาตรการในการงดจ่ายน้ำประปาเป็นบางช่วงเวลา จึงก่อให้เกิดผลกระทบขึ้น

S__45490180

ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ทางผู้สื่อข่าวเชียงใหม่นิวส์ ได้ดำเนินการติดตามสอบถามไปยัง รศ.ธีระ วิสิทธิ์พานิช คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทราบว่า “เรื่องของวิกฤติน้ำที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนต้องมีการออกประกาศของดจ่ายน้ำประปาเป็นบางเวลานั้น สาเหตุหลักเกิดจากวิกฤติภัยแล้งที่รุนแรง ซึ่งที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้ใช้น้ำจากคลองชลประทานเสริมบางส่วน แต่ทางคลองชลประทานตอนนี้ทางชลประทานก็ไม่อนุญาตให้ใช้น้ำ ทางมหาวิทยาลัยจึงต้องอาศัยใช้น้ำเท่าที่มีทั้งในอ่างแก้วและอ่างเก็บน้ำในศูนย์วิจัยแม่เหียะ ทำให้ปริมาณน้ำในแต่ละอ่างลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และปัญหาที่เกิดขึ้นคือ จากปกติในช่วงฤดูร้อนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมีการปิดเทอม หรือที่เรียกว่าปิดซัมเมอร์ ดังนั้นจากการที่นักศึกษาเต็มจำนวนที่มีในมหาวิทยาลัยประมาณ 40,000 คน ที่มาเรียน ก็จะมีแค่ประมาณ 10% หรือประมาณ 4,000 คน ที่ประกอบด้วย คณะครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 10,000 คน จึงทำให้ไม่มีปัญหาในการใช้น้ำ”

“แต่ภายหลังจากมีการปรับเปลี่ยนการเปิดซัมเมอร์ให้มาอยู่ในช่วงฤดูร้อน ส่งผลให้คนจำนวนหลายหมื่นคนมาร่วมกันอยู่ในช่วงซัมเมอร์นั้น ส่งผลให้มีการใช้น้ำกันอย่างมาก ทั้งการอุปโภคและบริโภค จึงทำให้ทางมหาวิทยาลัยไม่มีน้ำเพียงพอ ขณะเดียวกันภายในอ่างเก็บน้ำแม่เหียะนอกจากน้ำที่นำมาใช้ในพื้นที่เชียงใหม่แล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังอนุญาตให้ทาง อบต.แม่เหียะ สามารถนำน้ำไปใช้ในการบริการและการดำเนินการดับไฟป่า ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ทุกปี ประกอบกับในปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้งทำให้มีการใช้น้ำมากกว่าทุกๆ ปี อีกทั้งในปีนี้ไม่มีน้ำจากชลประทานเข้ามาเติมจึงทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น เช่นกัน”

คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต่อไปอีกว่า “ในส่วนของวิธีการแก้ไขนั้นทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการดำเนินการขุดอ่างหรือที่เรียกว่าอ่างแก้ว 2 ที่ได้มีการดำเนินการขุดมาตั้งแต่ช่วงปีก่อน แต่ก็ยังไม่มีน้ำเข้ามาเติมเนื่องจากเพิ่งดำเนินการขุดใหม่ ยังไม่เสร็จดีและได้มีการแก้ปัญหาด้วยการเจาะบ่อบาดาลมาเติมแต่ก็ได้ปริมาณที่ยังไม่เพียงพอ จึงเกิดผลกระทบมากมาย และยังกระทบต่อทางเกษตรคือน้ำที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในการเรียนการสอนนั้น ทั้งที่ใช้ในแง่ของการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา รวมทั้งด้านอื่นๆ ก็เกิดผลกระทบทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้วภายในอ่างเก็บน้ำแม่เหียะของทางมหาวิทยาลัยที่ได้มีการเลี้ยงปลาบึกไว้อายุราว 20 ปี ตัวละประมาณ 40-50 กิโลกรัม น้ำก็เริ่มแห้ง ส่งผลให้ปลาที่อยู่ในอ่างกำลังจะตายเนื่องจากน้ำที่มีปริมาณน้อย จนมองเห็นหลังปลาบึกที่ว่ายอยู่ในอ่าง รวมไปถึงอ่างที่ทดลองกระชังปลาก็ต้องเลิกทำการไป และรมไปถึงการทำแปลงเพาะปลูกพืชภาคปฏิบัติเบื้องต้นในเทอมนี้ต้องยกเลิกหมดทั้งสิ้น เนื่องจากไม่มีน้ำเพียงพอที่จะนำมาใช้”

คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “ดังนั้นจึงสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นมานี้ก็สืบเนื่องมาจากที่ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้มีการดำเนินการ เปิด-ปิด การเรียน ให้เป็นเรื่องของที่ประชุมอธิบดีแห่งประเทศไทย ในการที่จะรับภาระ โดยมองเห็นข้องดีคือการดำเนินการปิดเทอมให้ตรงกับหลายๆ ประเทศในอาเซียนทำให้การแลกเปลี่ยนนักศึกษามีมาตรฐานที่ดีขึ้น แต่ผลคือ 2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขจำนวนการแลกเปลี่ยนไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเท่าที่จะเป็น ขณะเดียวกันจำนวนนักศึกษา ครูบาอาจารย์ จำนวนประมาณ 2 ล้านคน ในระบบอุดมศึกษา มีผลกระทบได้รับความเดือดร้อนกันหมด โดยเฉพาะทางภาคอีสานที่น้ำใช้ในการอุปโภคและบริโภค ขาดแคลนอย่างมาก และรวมมาถึงทางภาคเหนือที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ด้วย”

a6ac924ded_10308737-467030696765635-8687463615288197447-n
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

“ดังนั้นข้อเสนอสุดท้ายซึ่งทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เคยดำเนินการมาแล้วคือ สภาคณบดี สาขาการเกษตรแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยคณะเกษตร ประมง ป่าไม้ จำนวน 34 แห่งทั่วประเทศ ควรยื่นหนังสือเพื่อให้ทางรัฐบาลได้ดำเนินการทบทวนในเรื่องนี้โดยให้มีการพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมานั้นได้มีการยื่นหนังสือไปแล้วถึง 2 รอบ แต่ก็ได้รับคำยืนยันว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ในขณะนี้มีกระแสที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ในที่ประชุมสภาอาจารย์ รวมทั้งข้าราชการแห่งประเทศไทย สภาราชภัฏทั่วประเทศ และสมาพันธ์นักศึกษาราชภัฏทั่วประเทศ ก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากกลุ่มราชภัฏ ศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ จะต้องฝึกภาคปฏิบัติที่โรงเรียนแต่ตอนนี้ทางโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยนั้นมีการปรับเปลี่ยนทำให้ปิดไม่เหมือนกัน ก็จึงเกิดปัญหา นอกจากนี้แล้วผลกระทบใหญ่ที่ตามมาคือ นักศึกษาที่จบมหาวิทยาลัยในระบบการ เปิด-ปิด ลักษณะนี้ที่ไม่ผ่านการเกณฑ์ รด. ไม่ผ่านการเรียน รด. ครบหลักสูตรไปสมัครที่บริษัทเอกชนก็จะไม่รับ เพราะถือว่าไม่ผ่านการเกณฑ์ทหารด้วย”

“นอกจากนี้แล้วการเรียนซัมเมอร์จากผลการตรวจสอบจากทุกมหาวิทยาลัย พบว่า ตัวเลขการลาของครูบาอาจารย์ การลาของบุคลากรในช่วงการเรียนซัมเมอร์เทอมนี้นั้น มีตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นมาก เนื่องจาก ลูกหลานปิดเทอมและเป็นเรื่องครอบครัวที่เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนจึงทำให้ต้องหยุด ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในขณะนี้ สถาบันไหน หน่วยงานไหนไม่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศก็จะส่งผลต่อสภาพการเรียนการสอนอีกทางหนึ่งด้วย จึงมองเห็นได้ว่ามีผลเสียมากกว่าผลดีเยอะมาก จึงอยากฝากถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าทางที่ประชุมอธิการบดีจะต้องทบทวนอย่างยิ่งในการกลับมาใช้ระบบเดิม เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพสังคม” คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น