“ฉัตรชัย” แจงผลปฏิบัติการฝนหลวง บรรเทาปัญหาหมอกควันและภัยแล้ง

B2
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เตรียมความพร้อมในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและหมอกควันในช่วงฤดูแล้งนี้ โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมความพร้อมและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วงชิงโอกาสในการปฏิบัติการฝนหลวง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือได้เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง(ระยะที่ 2) และแผนการบรรเทาหมอกควันและไฟป่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 รวมทั้ง ได้จัดตั้งฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 2 แห่ง ณ จังหวัดแพร่ และจังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2559 เป็นต้นมา

ในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 21 เมษายน ที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่และพิษณุโลกได้ติดตามสภาพอากาศและขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่แล้งวิกฤติและพื้นที่ร้องขอรับบริการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงแล้วทั้งหมด จำนวน 19 วัน มีฝนตก 17 วัน จำนวนเที่ยวบิน 68 เที่ยวบิน เกิดฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง และหนักบางบริเวณในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

B3
ด้าน นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดัดแปรสภาพอากาศ จะทำเมื่อไม่มีโอกาสของการทำฝน มุ่งเน้นช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันในพื้นที่เสี่ยง 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยสารละลายยูเรียช่วยเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ และช่วยดูดซับฝุ่นควันในบรรยากาศโดยตรง รวมทั้งเพิ่มปริมาณเมฆให้ช่วยดูดซับฝุ่นควันเข้าไปภายในก้อนเมฆได้อีกระดับหนึ่ง ซึ่งผลจากการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ พบว่า ช่วยให้ฝุ่นควันระดับปฏิบัติการจางลงระยะหนึ่ง และสำหรับวันที่มีเมฆคิวมูลัสขนาดเล็กก่อตัวช่วยเพิ่มปริมาณเมฆและความหนาแน่นของเมฆมากขึ้นเล็กน้อย รวมทั้งการทำให้ฝนตกซึ่งช่วยชะล้างฝุ่นละอองในบรรยากาศ ซึ่งได้ปฏิบัติการไปแล้วทั้งหมด 24 วัน จำนวน 75 เที่ยวบิน บริเวณพื้นที่วิกฤติที่มีค่า PM10 เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน รวมทั้งได้สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ช่วยควบคุมไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2 วัน (ในวันที่ 24 และ 31 มีนาคม 2559)

นายเลอศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เปิดโครงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือ ประจำปี 2559 ซึ่งเป็นความร่วมมือกับกองทัพอากาศ ในช่วงวันที่ 21 มีนาคม – 20 พฤษภาคม 2559 โดยใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรืออัลฟ่าเจ็ท (กองทัพอากาศ) จำนวน 2 เครื่อง พร้อมพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 500 นัด เพื่อปฏิบัติภารกิจฝนหลวงในเมฆเย็นและป้องกันไฟป่า ปัญหาหมอกควัน ทั้งนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 6 วัน (วันที่ 27 มีนาคม วันที่ 1, 8, 9, 18 และ19 เมษายน) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย และสุโขทัย

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเหนือได้มีการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องและพร้อมที่จะขึ้นบินปฏิบัติการทันทีที่สภาพอากาศเหมาะสมเอื้ออำนวย ทั้งในส่วนของการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่นและเมฆเย็น และปฏิบัติการสลายพายุลูกเห็บตามโครงการความร่วมมือกับกองทัพอากาศ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่าและปัญหาภัยแล้งตามเป้าหมายที่วางไว้ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น