มช. รับหน้าเสื่อ ประชุมเครือข่าย มหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย 13 พ.ค.นี้ 17 อธิการ ม.ชั้นนำร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

11

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand) ครั้งที่ 2/2559 ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 รวมทีม 17 อธิการบดี จากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากร การบริหาร การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย ในรูปแบบของกิจกรรมและการประชุมเชิงวิชาการ พร้อมนำแนวทางไปสู่การร่วมทำกิจกรรมกับ International Sustainable Campus Network ในระดับเครือข่ายนานาชาติ ณ มหาวิทยาลัยเซียนน่า ประเทศอิตาลี

 

การประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University Network) เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายการพัฒนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบในการพัฒนาสังคมในระดับนานาชาติ ซึ่งกำหนดจัดให้มีการประชุมเครือข่ายปีละ 4 ครั้ง ทุกๆ 3 เดือน มีจำนวนสมาชิกเครือข่ายทั้งสิ้น จำนวน 17 สถาบัน โดยที่ประชุมสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน ได้มีมติให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand) ครั้งที่ 2/2559 หลังจากที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการประชุมครั้งที่ 1/2559 ไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา

22

 

การจัดประชุมวิชาการเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2559 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ กำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2559 เวลา 08.20-13.30 น. ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งอธิการบดี รองอธิการบดี และผู้แทนผู้บริหารของแต่ละมหาวิทยาลัย จาก 16 สถาบัน เข้าร่วมประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากร การบริหาร การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย ในรูปแบบของกิจกรรม การประชุมเชิงวิชาการประจำปี และจะนำไปสู่การร่วมทำกิจกรรมกับเครือข่าย International Sustainable Campus Network ในระดับเครือข่ายนานาชาติในทุกปี โดยกำหนดการจัดประชุมขึ้นในปี พ.ศ.2559 ณ มหาวิทยาลัยเซียนน่า ประเทศอิตาลี ในโอกาสต่อไป ซึ่งผลของการจัดประชุมวิชาการเครือข่ายฯ ในครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้เกิดการศึกษา การบูรณาการร่วมกันในทุกๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถาบันการศึกษามีบทบาทสำคัญในการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการศึกษา การวิจัยเพื่อนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

 

กิจกรรมจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 08.20 น. ณ ลาน Visit CMU บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ ปฏิบัติการแทนอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอภาพรวมของระบบกายภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และร่องรอย Carbon Footprint รองศาสตราจารย์โรม จิรานุกรม รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอการดำเนินงานของ Visit CMU รองศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ สุวรรณประพิศ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอระบบการจัดการรถไฟฟ้าของมหาวิทยาลัย จากนั้นจะนำเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน เยี่ยมชมบริเวณสวนปาล์ม อ่างเก็บน้ำตาดชมพู และอ่างแก้ว โดยรถไฟฟ้า แล้วคุณนิคม บัววังโป่ง ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่และสาธารณูปการ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอระบบกายภาพและสาธารณูปโภคของมหาวิทยาลัย ต่อด้วยการนำไปศึกษาดูงานพร้อมรับฟังการบรรยายระบบการจัดการขยะ ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

หลังจากนั้น เวลา 11.00 น. ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน กล่าวเปิดการประชุม ซึ่งจะมีการบรรยายสรุประบบกายภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ ปฏิบัติการแทนอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการประชุมคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน ครั้งที่ 2/2559

 

สำหรับสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนจาก 17 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

การประชุมคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนครั้งนี้ นับเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ระหว่างสมาชิกเครือข่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือ การบรูณาการผลของการประชุม และนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนได้ร่วมกันวางแนวทางในการพัฒนาการทำงานระหว่างสมาชิกเครือข่ายร่วมกันให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น