สกู๊ปหน้า 1…เมืองสามหมอก ผนึกกำลังสู้ไฟป่า

111 ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาปัญหาไฟป่าและหมอกควันดูจะเป็นปัญหาสำคัญระดับต้นของจังหวัดภาคเหนือ ปัญหาการปกคลุมของหมอกควันได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้ยกระดับปัญหาให้เป็นความสำคัญระดับภูมิภาคของประเทศไทย โดยมอบให้ 10 จังหวัดภาค เหนือเป็นเขตการควบคุมป้องกันปัญหาหมอกควันและไฟป่ามาต่อเนื่อง

ปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งนั่นก็คือ ปัญหาการเผาทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ทำให้เกิดจุดความร้อนต่างๆ กระจายทั่วเขตภาคเหนือหากนับรวมจุด Hotspot หรือจุดความร้อนที่มีมากกว่า 20,000 จุดในประเทศไทยแล้ว จังหวัดแม่ฮ่องสอนถือเป็นจังหวัดที่มีจุด Hotspot มากเป็นลำดับที่ 1 หรือกว่า 10% ของ Hotspot เกิดขึ้นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปีที่ผ่านมามี Hotspot ที่นับจากเดือนมกราคม จนถึงวันที่ 30 เมษายน จำนวน 2,323 จุด

ในด้านการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่ถือเอามาตรฐาน 120 Mg นั้น ในปีที่ผ่านมาจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีวันที่ค่าคุณภาพอากาศเกิดมาตรฐานอยู่ถึงจำนวน 22 วัน และจากการตรวจสอบพบว่าค่าสูงสุดของ PM10 ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่สูงถึงระดับ 303 Mg ในวันที่ 26 มีนาคม 2558

เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ เดินทางมารับตำแหน่ง ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ได้รับทราบปัญหาไฟป่าและหมอกควันปกคลุมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเห็นว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนและมีความสำคัญส่งผลกระทบถึงปัญหาสุขภาพอนามัยประชาชน ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตลอดถึงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี พ.ศ. 2559 จังหวัดฯ จะต้องลดจำนวน Hotspot ลงให้ได้ถึงร้อยละ 40% ถือว่าเป็นเป้าหมายที่สูงและท้าทายความสามารถของผู้ที่มีส่วนร่วมทุกคน
ในต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 จังหวัดจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา และหมอกควันปกคลุมจังหวัดแม่ฮ่องสอนขึ้น โดยอาศัยระบบ Single Command โดยให้ผู้ว่าราชาการจังหวัดฯ มีอำนาจสั่งการแบบเบ็ดเสร็จกับหน่วยราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

นอกจากนั้น ยังได้กระจายระบบ Single Command ลงไปยังอำเภอทุกอำเภอมอบหมายให้นายอำเภอเป็นผู้มีอำนาจสั่งการในการดูแลแก้ไขปัญหาไฟป่ากับทุกหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดอำเภอ และที่สำคัญกว่านั้นได้มีการกระจายความรับผิดชอบลงไปยังระดับตำบล และหมู่บ้านกระจายทั่วพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และได้มีการ จัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันขึ้น โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 และประชุมครั้งต่อๆ มารวมทั้งหมดถึง 4 ครั้ง

ในระดับประเทศได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมการเตรียมการแก้ไขไฟป่าระดับชาติมาอย่างต่อเนื่องจำนวนหลายครั้ง และในส่วนของจังหวัดฯ ได้เริ่มกิจกรรมรณรงค์ป้องกันไฟป่าขึ้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาไฟป่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนนับแต่วันนั้น

ก่อนเริ่มถึงฤดูกาลไฟป่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้กำหนดมาตรการที่เรียกว่าการชิงเผาเชิงวิชาการขึ้นในทุกพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยคัดเลือกพื้นที่ล่อแหลมกับการเกิดไฟป่าและทำการชิงเผาโดยการควบคุม ของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด มาตรการนี้ได้ดำเนินการก่อนถึงเขต 60 วันอันตราย หรือช่วงหยุดการเผาโดยสิ้นเชิง ของจังหวัดที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 29 เมษายน 2559

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ก็ได้เห็นความสำคัญของปัญหาไฟป่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ภาคสนามในท้องที่อำเภอปายเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 และร่วมรณรงค์การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดขึ้น ที่อำเภอปาย รวมทั้งออกปฏิบัติงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่อำเภอปายอีกด้วยในด้านการเตรียมความพร้อมเรื่องข้อมูลคุณภาพอากาศ จังหวัดฯ ได้มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่สนับสนุนโดยกรมควบคุมมลพิษ ตั้งอยู่ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากนั้นในด้านความร่วมมือเรื่องข้อมูลจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในทุกช่วงเวลา จังหวัดฯ ไดรับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Gistda เข้ามาร่วมตรวจวัดข้อมูลในระดับพื้นที่ที่ Warroom ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมเป็นต้นมา

ดังนั้น จึงเห็นว่าความพร้อมของจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีมากถึงระดับ 100% เมื่อเข้าสู่ฤดูไฟป่าและเมื่อเริ่มต้นฤดูทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในช่วงกลางฤดูจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังได้รับการสนับสนุนกำลังพลของหน่วยส่งเสริมและควบคุมไฟป่าของกรมป่าไม้จากจังหวัดต่างๆ เข้ามาในพื้นที่และได้รับการสนับสนุนกำลังพลหน่วยควบคุมไฟป่าจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อีกหลายหน่วยงาน ซึ่งจังหวัดฯ ได้มอบหมายให้ทั้งสองกรมฯ รับผิดชอบพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงและอำเภอสบเมย ซึ่งมีปัญหาไฟป่าและหมอกควันค่อนข้างหนาแน่น
แม้เมื่อมีปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงชัน จังหวัดแม่ฮ่องสอนยังได้รับความร่วมมือจากสำนักบินทรัพยากรธรรมชาติ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดส่งเฮลิคอปเตอร์ ช่วยเหลือการดับไฟป่าเข้ามาในพื้นที่จังหวัดหลายครั้ง ซึ่งสามารถช่วยเหลือกำลังพลภาคพื้นดินได้อย่างดีเยี่ยม

222

ในด้านความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้จัดส่งผู้แทนเข้ามาดูงาน การควบคุมไฟป่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่พนักงานดับไฟป่า และยังได้สนับสนุน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเฮลิคอปเตอร์ในการบินตรวจสอบควบคุมไฟป่าอีกด้วย

จากการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือน และด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทหาร ตำรวจ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ทางหลวงชนบท หน่วยป่าไม้ และความร่วมมือภาคประชาชน จึงทำให้แม่ฮ่องสอนประสบผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมกล่าวคือ จำนวน Hotspot ที่เกิดขึ้น 2,323 จุด ในปีที่ผ่านมาลดลงเหลือ 1,379 จุด ในปีนี้หรือลดลง มากกว่า 40% ตามเป้าหมายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ได้ตั้งเป้าหมายไว้

ในด้านความรุนแรงของค่าฝุ่นละอองในอากาศได้ลดลงจาก 303 Mg ในปีที่ผ่านมาคงเหลือ 264 Mg ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการลดจำนวนจุดความร้อนของพื้นที่จังหวัด

ส่วนจำนวนวันที่ค่าอากาศเกินมาตรฐานแม้จะขยายถึง 27 วันในปีนี้ ขณะที่ปีที่ผ่านมามีเพียง 22 วัน อธิบายได้ว่าเกิดจากความแห้งแล้งที่กระจายทุกหย่อมหญ้าในประเทศไทย จึงทำให้ฤดูร้อนในปีนี้ยาวนานเป็นพิเศษ ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านก็ได้เกิดจุด Hotspot ขึ้นมากกว่า 7,000 จุด ลมที่พัดผ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้กระจายหมอกควันเหล่านี้เข้ามาในพื้นที่จังหวัดฯ อย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงทั้งสภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ส่งผลให้หมอกควันคงอยู่อย่างยาวนาน แต่อย่างไรก็ดีเมื่อลดความรุนแรงลงไปได้ ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพึงพอใจ

ในด้านการคมนาคมทางอากาศที่เครื่องบินไม่สามารถลงจอดที่สนามบินแม่ฮ่องสอนได้ถึง 58 เที่ยวบินในปีที่ผ่านมา จากการแก้ปัญหาที่จริงจังและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในปีนี้ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบิน ที่ลงจอดไม่ได้ลดลงเหลือเพียง 18 เที่ยวบินเท่านั้น

นี่เป็นผลสัมฤทธิ์ที่เห็นในเชิงประจักษ์เบื้องต้น เราเชื่อว่าหากความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของส่วนราชการ องค์การภาคเอกชน และของพี่น้องประชาชนได้เพิ่มมากขึ้นถึงระดับสูงสุดเมื่อใด จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะเข้าสู่วิสัยทัศน์ที่ประเทศได้ตั้งไว้ว่าในปี 2563 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปลอดไฟป่าได้ไม่ยากนัก

ร่วมแสดงความคิดเห็น