ปภ.เชียงใหม่ ยันมีเงินช่วย แก้”ภัยแล้ง” ขยายเวลาถึง 31พ.ค.นี้ ส่วนศึกแย่งน้ำยุติแล้ว

แล้งจัด

แล้งลามต่อเนื่อง ที่ประชุม ก.ช.ภ.จ.เชียงใหม่ มีมติให้ประกาศแล้งเพิ่มอีก 2 อำเภอ แม่วางชงประกาศทั้งอำเภอ ตามด้วยเวียงแหงประกาศแล้งเกือบเต็มพื้นที่ขาดแค่ 3 หมู่บ้าน พร้อมมีมติประกาศเพิ่มอีกหลายหมู่บ้านในอำเภอที่ประกาศภัยแล้งไปก่อนแล้ว ส่งผลเชียงใหม่ประสบภัยแล้งแล้ว 20 อำเภอ เจอแล้งเต็มพื้นที่ 4 อำเภอ ดอยเต่า ดอยหล่อ ฮอด และแม่วาง ประชาชนมากกว่า 3 แสนคนได้รับผลกระทบ “ปภ.เชียงใหม่” ยันยังมีเงินทดรองราชการเพียงพอสำหรับช่วยภัยแล้ง ส่วนปัญหาแย่งน้ำสองฝั่งน้ำปิงยุติ

วันที่ 5 พ.ค.59 เวลา 13.45 น. ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดเชียงใหม่ หรือ ก.ช.ภ.จ.เชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนนายอำเภอทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุม

นายมงคล สุกใส รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เกิดภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) มาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 โดยอำเภอดอยเต่าเป็นอำเภอแรกที่เกิดภัย การประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยแล้งแต่ละครั้งมีกำหนดระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันเกิดภัย ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ขยายเวลาระยะเวลาช่วยเหลือออกไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 โดยที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภัยแล้งตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ.2556 ไปแล้วรวม 18 อำเภอ มีพื้นที่ประสบภัย 69 ตำบล 702 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 100,209 ครัวเรือน ประชากร 290,590 คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 79,779.75 ไร่ ปศุสัตว์ 23,989 ตัว ประมง 126 กระชัง บ่อน้ำ 30 บ่อ และเหมืองฝายได้รับผลกระทบ 24 แห่ง

สำหรับในวาระเรื่องเพิ่มพิจารณามีผู้แทนอำเภอต่างๆ รวม 11 อำเภอ เข้าเสนอรายงานเหตุด่วนสาธารณภัย (กรณีภัยแล้ง) ต่อที่ประชุม โดยเป็นอำเภอที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งไปก่อนหน้าการประชุมครั้งนี้จำนวน 9 อำเภอ ได้แก่ อ.ดอยเต่า อ.ดอยหล่อ และ อ.ฮอด ขอที่ประชุมประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งเพิ่มซึ่งส่งผลให้เป็นอำเภอที่มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งทั้งอำเภอ นอกจากนี้ยังมี อ.เชียงดาว อ.แม่ริม อ.แม่อาย อ.ดอยสะเก็ด อ.แม่แจ่ม และ อ.พร้าว ที่รายงานต่อที่ประชุมเพื่อขอประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งเพิ่มในบางพื้นที่

ส่วนอำเภอที่ยังไม่ได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งมาก่อนเลย 2 อำเภอ ที่เข้ารายงานต่อที่ประชุม ก.ช.ภ.จ.เชียงใหม่ ครั้งนี้ ได้แก่ อำเภอแม่วาง โดยขอมติที่ประชุมให้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งเต็มพื้นที่ทั้งอำเภอจำนวน 5 ตำบล 58 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 8,014 ครัวเรือน ประชากร 21,292 คน และ อำเภอเวียงแหง ได้ขอมติที่ประชุมประกาศพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้ง จำนวน 3 ตำบล 20 หมู่บ้าน เหลือเพียง 3 หมู่บ้านเท่านั้นที่ยังไม่มีการเสนอให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้ง มีราษฎรได้รับความเดือนร้อนแล้ว 7.803 ครัวเรือน ประชากร 34,296 ครัวเรือน

นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ ปภ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ด้านการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งได้มีการจ่ายเงินทดรองราชการสำหรับการช่วยเหลือภัย วงเงินงบประมาณ 20 ล้านบาท ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ พ.ศ. 2556 ก่อนเกิดภัยแล้งปีนี้ จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว 12,044,756.25 บาท และวงเงินทดรองราชการที่กรมบัญชีกลางขยายให้จังหวัดเพิ่มเติมจำนวน 30 ล้านบาท ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดสรรให้แก่อำเภอต่างๆ อำเภอละ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 12,500,000 บาท โดยมีวงเงินคงเหลือ 17,500,000 บาท เมื่อรวมทั้ง 2 ยอดแล้ว จ.เชียงใหม่ ยังมีเงินทดรองราชการสำหรับการช่วยเหลือภัยแล้งในจังหวัดอีกจำนวน 25,455,243.75 บาท

ทั้งนี้ผลการประชุม ก.ช.ภ.จ.เชียงใหม่ ครั้งนี้ที่มีมติพิจารณาให้ทั้ง 11 พื้นที่อำเภอใน จ.เชียงใหม่ ที่เสนอรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยต่อที่ประชุม และที่ประชุมฯ มีมติให้มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งเพิ่มตามที่แต่ละอำเภอเสนอ ส่งผลให้ จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งแล้วทั้งสิ้น 20 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ดอยเต่า สันกำแพง แม่ริม แม่แตง จอมทอง พร้าว ฮอด ดอยหล่อ ฝาง เชียงดาว ไชยปราการ ดอยสะเก็ด กัลยาณิวัฒนา สะเมิง อมก๋อย สันทราย แม่แจ่ม แม่อาย และอีก 2 อำเภอล่าสุดที่ได้รับมติให้มีการประกาศคือ อ.แม่วาง และ อ.เวียงแหง และมีอำเภอที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งทั้งอำเภอแล้วจำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ดอยเต่อ อ.ดอยหล่อ อ.ฮอด และ อ.แม่วาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ได้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทในเรื่องการแย่งชิงน้ำระหว่างประชาชนในพื้นที่เขต ต.ดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ กับประชาชนในพื้นที่เขต ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ที่อยู่สองฝั่งลำน้ำปิง บริเวณสถานีสูบน้ำไฟฟ้าหน้าวัดดอยหล่อ ม.6 ต.ดอยหล่อ ซึ่งสาเหตุดังกล่าวมาจากปัญหาภาวะภัยแล้ง ประกอบกับฝายของกรมชลประทานที่อยู่ในพื้นที่จำนวน 2 ลูก คือฝายดอยน้อยและฝายวังปาน ได้เกิดความเสียหายจากอุทกภัยปี 2554 ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างใหม่ ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ทำให้เกิดวิกฤติภัยแล้งอย่างหนักหน่วงถึงขั้นลำไยที่เป็นไม้ผลยืนต้นตายกลางสวน ตามที่ทางผู้สื่อข่าวได้นำเสนอข้อมูลไปแล้วก่อนหน้านี้นั้น

ความคืบหน้าล่าสุด ทาง ผอ.ประสิทธิ์ วงศ์น้อย ส่วนประสานและบริหารจัดการลุ่มน้ำปิงตอนบน สนง.ทรัพยากรน้ำ ภาค 1 ลำปาง กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ทะเลาะดังกล่าวได้มีเจ้าหน้าที่ทหารนำโดย พ.ต.สุทัศน์ ญานะเครื่อง หัวหน้าชุดปฏิบัติการ กองอำนวยการรักษาความสงบแห่งชาติ (มทบ.33) ฝ่ายปกครองในท้องที่ปลัดอำเภอดอยหล่อ นายณรงค์ภัทร์ นาคทรัพย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.ดอยหล่อ นายสุรพงศ์ กาบวัง และ อบต.น้ำดิบ นายมงคล หมิ่นไว เข้ามาร่วมประชุมเจรจาไกล่เกลี่ยและมีเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำร่วมสังเกตุการณ์ในพื้นที่ และต่อมาได้มีข้อตกลงไกล่เกลี่ยระหว่างผู้นำประชาชนทั้งสองฝ่ายโดยมีข้อสรุปคือ ให้ทางฝั่ง ต.ดอยหล่อ หยุดสูบน้ำจากท่าทรายกรุงไทย เพื่อรักษาระดับน้ำใต้ดินให้กันทั้งสองฝั่งปิง พร้อมทั้งให้หยุดนำรถแบ็กโฮที่ขุดลอกร่องน้ำในลำน้ำปิงออกจากพื้นที่

ขณะเดียวกัน ฝายกระสอบทรายชั่วคราวที่ประชาชนฝั่ง ต.น้ำดิบ ทำไว้กั้นลำน้ำปิง เพื่อยกระดับน้ำไว้จุดประสงค์เพื่อเสริมให้ระดับน้ำใต้ดินมีไว้ใช้ตลอด มีมติที่ประชุมให้ฝายกระสอบทรายดังกล่าวคงสภาพต่อไป พร้อมทั้งให้นำรถแบ็กโฮโดยร่วมกันทั้งสองฝั่งปิงขุดกองทรายที่บริเวณหลุมสูบน้ำ หน้าวัดดอยหล่อ ให้ย้ายไปทางฝั่ง ต.น้ำดิบ เพื่อไม่ให้กองทรายกีดขวางทางน้ำเวลาน้ำหลาก อีกทั้งช่วยเสริมตลิ่งให้ฝั่ง ต.น้ำดิบ รวมทั้งให้ทั่งสองฝั่งปิง ต.ดอยหล่อ และ ต.น้ำดิบ รวบรวมรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งนำส่ง จ.เชียงใหม่ เพื่อขอปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่งัดลงมาจำนวนมาก เพื่อคืนระบบนิเวศน์ให้กับลำน้ำปิงต่อไป

ส่วนกรณีการเกิดข่าวลือในเรื่องจะมีการขุดกลบหลุมสูบน้ำบริเวณกลางน้ำปิงและรื้อถอนเครื่องสูบน้ำออก ณ สถานีสูบน้ำไฟฟ้าหน้าวัดดอยหล่อ ม.6 ต.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ได้มีประชาชนในพื้นที่มารวมตัวกันประมาณ 80-100 คน เพื่อป้องกันจากเหตุข่าวลือดังกล่าว และปัจจุบันยังมีการรวมตัวกันอยู่ และมีเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เฝ้าดูสถานการณ์ป้องกันเหตุกาณณ์ไม่ให้เกิดขึ้นอีก ขณะที่ช่วง 28-29 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดพายุฤดูร้อนตกหนัก ลมกรรโชกแรงในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่ลำน้ำปิง ประกอบกับกรมชลประทานได้ปล่อยน้ำจากฝายน้ำล้นหนองสลีกซึ่งเหนือจุดพื้นที่ขัดแย้ง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนทั้งสองฝั่งมีปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้ในการเกษตรเพียงพอทั้งสองฝั่งแม่น้ำปิง ซึ่งปัจจุบันเหตุการณ์ขัดแย้งดังกล่าวได้ยุติลงแล้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น